บทบรรณาธิการ: ฉบับลอดรัฐ ข้ามอธิปไตย

             ถ้าหากประเทศเพื่อนบ้านของเราตัดสินใจจะตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในพื้นที่บริเวณชายแดนที่ใกล้กับเขตของไทย เราจะสามารถทำอะไรได้บ้างหรือไม่ หรือต้องยอมรับให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นโดยไม่อาจโต้แย้งใดๆ ได้ เนื่องจากไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจของรัฐไทย

            ในห้วงเวลาปัจจุบัน เป็นเรื่องไม่ยากลำบากที่จะสามารถพบเห็นการดำเนินโครงการต่างๆ ที่อยู่ภายในเขตของอำนาจรัฐแห่งใดแห่งหนึ่งอย่างชัดเจน แต่ผลกระทบจากการดำเนินงานนั้นสามารถมีผลกระทบต่อชีวิต ชุมชน หรือสังคมหรืออีกประเทศหนึ่ง เฉพาะอย่างยิ่งในการดำเนินกิจกรรมที่มีผลเกี่ยวข้องกับด้านสิ่งแวดล้อม

            แม้ตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้นอาจจะยังไม่ได้ปรากฏขึ้นจริง แต่ประเด็นข้อขัดแย้งในลักษณะของการข้ามพรมแดนเป็นสิ่งที่ได้เกิดขึ้นให้เห็นอย่างชัดเจนในหลายกรณี ไม่ว่าควันไฟจากการเผาป่า การสร้างเขื่อนในแม่น้ำระหว่างประเทศ การสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ชายแดนระหว่างสองประเทศ เป็นต้น

            ไม่ใช่เพียงเฉพาะการพิจารณาในปัญหาที่เกิดขึ้นเท่านั้น ในอีกแง่มุม จะเห็นได้ว่าการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เหล่านั้นก็ยังเป็นผลสืบเนื่องมาจากระบบเศรษฐกิจและการลงทุนที่เปลี่ยนไป การดำเนินการที่เป็นการลงทุนของต่างชาติหรือเป็นการประกอบกิจการร่วมจากต่างชาติก็เป็นประเด็นที่ทำให้เกิดคำถามถึงความสามารถในการกำกับต่อกิจกรรมที่สลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้นเช่นนี้

            ตัวอย่างที่หยิบยกมาได้ทำให้เกิดคำถามอย่างสำคัญว่าอำนาจรัฐจะสามารถเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างไร เนื่องจากปัญหานี้มิได้เกิดอยู่ภายในเขตอำนาจแห่งรัฐที่จะสามารถบังคับใช้กฎหมายรัฐได้ทันทีบนหลักของอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน วารสารนิติสังคมศาสตร์ ฉบับข้ามรัฐ ลอดอธิปไตย จะชวนพิจารณาถึงความไม่ลงรอยระหว่างระบบกฎหมายของรัฐกับปมประเด็นความขัดแย้งอันเป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในห้วงเวลาปัจจุบัน               

เผยแพร่แล้ว: 2018-06-20