ผลของโปรแกรมการจัดการตนเองต่อสมรรถภาพปอดของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

Main Article Content

ธาดา วินทะไชย
นรลักขณ์ เอื้อกิจ

Abstract

วัตถุประสงค์: ศึกษาผลของโปรแกรมการจัดการตนเองต่อสมรรถภาพปอดของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง


รูปแบบการวิจัย: เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง


วิธีดำเนินการวิจัย: กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ทั้งชายและหญิง มีอายุระหว่าง 18-59 ปี ที่มารับบริการที่คลินิกโรคปอด โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 44 คน แบ่งเป็นกลุ่มควบคุม 22 คน และกลุ่มทดลอง 22 คน ได้รับการคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง โดยการจับคู่ กลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง ให้มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันในเรื่อง เพศ อายุ ระดับความรุนแรงของโรค และชนิดของยาสูดพ่น กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการจัดการตนเอง ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ ระยะเวลาในการศึกษา 6 สัปดาห์ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ โปรแกรมการจัดการตนเองสำหรับผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นโดยประยุกต์ใช้แนวคิดการจัดการตนเองของ Creer (2000) และแบบประเมินการจัดการตนเองของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ค่าความตรงตามเนื้อหาได้เท่ากับ .95 และการวิเคราะห์ค่าความเที่ยงเท่ากับ .83 วิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย             ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที


ผลการวิจัย: 1. ค่าเฉลี่ยสมรรถภาพปอดของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในกลุ่มทดลอง หลังได้รับโปรแกรมการจัดการตนเอง ดีกว่า ก่อนได้รับโปรแกรมการจัดการตนเอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05


  1. ค่าเฉลี่ยสมรรถภาพปอดของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในกลุ่มที่ได้รับโปรแกรมการจัดการตนเอง ดีกว่า กลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

สรุป: ผลการศึกษาครั้งนี้ สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการดูแลผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เพื่อให้มีการจัดการตนเองที่ดี ส่งผลให้สมรรถภาพปอดดีขึ้น

Article Details

Section
Research articles