พัฒนาการเจตคติต่อวิชาชีพครูของนักศึกษาหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิตมหาวิทยาลัยราชภัฏ นครราชสีมา: การวิเคราะห์โมเดลโค้งพัฒนาการเหลื่อมเวลาระยะยาวที่มีตัวแปรแฝง

Main Article Content

Somkiat Tanok

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและตรวจสอบโมเดลโค้งพัฒนาการเหลื่อมเวลาระยะยาวที่มีตัวแปรแฝงเจตคติต่อวิชาชีพครู และเพื่อศึกษาพัฒนาการเจตคติต่อวิชาชีพครูของนักศึกษาหลักสูตร
ครุศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยเป็นนักศึกษาหลักสูตร
ครุศาสตรบัณฑิต (หลักสูตร 5 ปี) โปรแกรมวิชาการศึกษาปฐมวัย คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นปีที่ 1 ถึง ชั้นปีที่ 4 หรือเริ่มเข้าศึกษาในปีการศึกษา 2548, 2549, 2550 และ 2551 ซึ่งได้มาจากการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน จำนวนรวมทั้งสิ้น 652 คน จำแนกเป็น 4 กลุ่มตามชั้นปีที่เก็บข้อมูลครั้งแรกคือ ชั้นปีที่ 1 ถึงชั้นปีที่ 4 จำนวน 232, 139, 148 และ 133 คน ตามลำดับ แต่ละกลุ่มมีการเก็บรวบรวมข้อมูลจำนวน 4 ครั้ง ห่างกันประมาณครั้งละ 5 เดือน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามเจตคติต่อวิชาชีพครูที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น ซึ่งผ่านการตรวจสอบคุณภาพด้านอำนาจจำแนกรายข้อ ความเที่ยง ความตรงเชิงโครงสร้าง และการวิเคราะห์ข้อมูลใช้การวิเคราะห์โมเดลโค้งพัฒนาการเหลื่อมเวลาระยะยาวที่มีตัวแปรแฝง


          ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้


          1) โมเดลโค้งพัฒนาการเหลื่อมเวลาระยะยาวที่มีตัวแปรแฝงเจตคติต่อวิชาชีพครูของนักศึกษาหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ที่พัฒนาขึ้นและตรวจสอบโมเดลใน 3 รูปแบบ ประกอบด้วยโมเดลโค้งพัฒนาการที่เป็นฐาน โมเดลโค้งพัฒนาการเชิงเส้นตรง และโมเดลโค้งพัฒนาการพารามิเตอร์อิสระ พบว่าโมเดลที่มีความสอดคล้องกลมกลืนกับข้อมูลเชิงประจักษ์ที่สุด คือโมเดลโค้งพัฒนาการพารามิเตอร์อิสระ หรือพัฒนาการแบบไม่ใช่เส้นตรง


          2) พัฒนาการเจตคติต่อวิชาชีพครูของนักศึกษาหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มีค่าเฉลี่ยสถานะเริ่มต้นในภาคเรียนที่ 1 เท่ากับ 4.0369 ซึ่งอยู่ในระดับมาก และมีอัตราพัฒนาการเพิ่มขึ้นตลอดช่วงเวลาการศึกษาตามหลักสูตรจากภาคเรียนที่ 1 ถึงภาคเรียนที่ 10 ด้วยอัตราพัฒนาการเฉลี่ย 0.1123 และเมื่อคำนวณค่าเฉลี่ยเจตคติต่อวิชาชีพครูของนักศึกษาตลอดหลักสูตร
ครุศาสตรบัณฑิตตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ถึงภาคเรียนที่ 10 มีค่าเท่ากับ 4.0369, 4.1492, 4.1695, 4.1727, 4.1110, 4.0930, 4.0865, 4.1253, 4.2026 และ 4.2261 ตามลำดับ

Article Details

บท
บทความวิจัย (Research Article)