พฤติกรรมสารสนเทศของนักศึกษาระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Authors

  • ชลภัสส์ วงษ์ประเสริฐ
  • สมาน ลอยฟ้า
  • เพ็ญพันธ์ เพชรศร

Keywords:

พฤติกรรมสารสนเทศ, ความต้องการสารสนเทศ, การแสวงหาสารสนเทศ, การใช้สารสนเทศ, นักศึกษา, มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Abstract

บทคัดย่อ

            การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมสารสนเทศของนักศึกษาระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยขอนแก่นโดยใช้วิธีวิจัยเชิงสำรวจ การเก็บรวบรวมข้อมูลใช้แบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ชั้นปีที่ 2-5 จำนวน 390 คนในปีการศึกษา 2553  โดยสุ่มกลุ่มตัวอย่างแบบชั้นภูมิ ในการวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติบรรยายได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน

ผลการศึกษาพบว่าส่วนใหญ่อาจารย์เป็นผู้มอบหมายงานให้นักศึกษา ประเภทของงานที่นักศึกษาได้รับมอบหมายในรอบปีที่ผ่านมามากกว่าร้อยละ 50 มี 2 ประเภทคือนักศึกษานำเสนอรูปเล่มรายงาน และการนำเสนอด้วยวาจา นักศึกษามีเป้าหมายในการศึกษาค้นคว้าคือต้องการทำงานเสร็จอยู่ในระดับมากที่สุด และต้องการให้ได้คะแนนสูง ส่วนใหญ่ใช้โปรแกรมการค้นหามากที่สุด โดยพิจารณาการสืบค้นข้อมูลบนเว็บไซต์จากความทันสมัยเว็บไซต์ ผู้ให้ข้อมูลเว็บไซต์มีความน่าเชื่อถือ การนำเสนอเนื้อหาบนเว็บไซต์มีหลากหลายมุมมอง บทความบนเว็บไซต์ระบุผู้เขียนอย่างชัดเจน บทความบนเว็บไซต์มีบรรณานุกรมประกอบ เว็บไซต์มีลิงค์เชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์อื่นๆ อยู่ในระดับมาก ส่วนวิธีการศึกษาค้นคว้านั้นพบว่า นักศึกษามีการวางแผนไว้เป็นแนวทางในการดำเนินงานหลังจากได้รับมอบหมาย  มีการกำหนดปัญหาหรือหัวข้อที่สนใจไว้ล่วงหน้า มีการวางโครงร่างการเขียนรายงานก่อน เริ่มต้นการทำรายงานโดยการกำหนดคำค้น มีระบบการจัดการข้อมูลที่ค้นหาได้ระหว่างการศึกษาค้นคว้าและจะหยุดสืบค้นเมื่อมีรายการอ้างอิงครบตามที่อาจารย์สั่งงานอยู่ในระดับมาก และให้บรรณารักษ์ช่วยสืบค้นในระดับน้อย ในด้านการประเมินสารสนเทศที่สืบค้นได้พบว่า นักศึกษาให้ความสำคัญกับผู้เขียนมากกว่าแหล่งข้อมูล ส่วนการให้บุคคลอื่นช่วยประเมินแหล่งข้อมูลนั้นส่วนใหญ่ใช้เพื่อนที่เรียนด้วยกันในระดับมาก แต่ใช้บรรณารักษ์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในระดับน้อย  นอกจากนี้ยังพบว่านักศึกษามีปัญหาอยู่ในระดับมากในการทำรายงานตั้งแต่การเริ่มต้นที่ได้รับมอบหมาย ความยากในการเลือกประเด็นในการทำรายงาน การกำหนดขอบเขตเนื้อหาในการทำรายงานว่ามีความกว้างหรือแคบเพียงใด การค้นหาบทความจากฐานข้อมูลวิจัยในเว็บไซต์ของห้องสมุด การสืบค้นสารสนเทศส่วนใหญ่ได้สารสนเทศที่ไม่ตรงกับความต้องการ การประเมินว่าแหล่งสารสนเทศใดน่าเชื่อถือและไม่สามารถประเมินได้ว่ารายงานที่ทำสำเร็จแล้วดีเพียงใด

Downloads

Issue

Section

บทความวิชาการ