ผลลัพธ์ของโครงการเภสัชกรประจำครอบครัวร้านยาคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Main Article Content

สุณี เลิศสินอุดม
นิรัชรา ถวิลการ
ณัฏฐธิดา หาญสุริ
อัจฉรา นาสถิตย์
จุฑารัตน์ เต็มทอง
ฐัติมา คำสวนจิก
เบญจวรรณ จันทร์ไทย

Abstract

บทนำ: โครงการเภสัชกรประจำครอบครัวเป็นโครงการที่เภสัชกรให้การบริบาลทางเภสัชกรรมแก่ผู้ป่วยและครอบครัว โดยการเยี่ยมบ้านและบริการดูแลสุขภาพผู้ป่วยที่บ้าน เป็นการเสริมสร้างสุขภาพเชิงรุก เพื่อส่งเสริมการใช้ยาให้ถูกต้องและเข้าถึงการดูแลผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น วิธีการดำเนินการวิจัย: เป็นการศึกษาย้อนหลังในช่วง 1 มิถุนายน 2555 ถึง 31 มกราคม 2556 จากการออกเยี่ยมบ้านที่มีสมาชิกในครอบครัวป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหืดหรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง รวม 23 ครอบครัว เยี่ยมบ้านทั้งหมด 46 ครั้ง โดยประเมินผลลัพธ์ทางคลินิก การจัดการปัญหาเรื่องยาและปัญหาสุขภาพของผู้ป่วยที่มีการเยี่ยมบ้านตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป มีทั้งสิ้น 13 ครอบครัว คิดเป็นผู้ป่วย 17 ราย รวมทั้งประเมินความพึงพอใจของผู้รับบริการต่อการเยี่ยมบ้านของเภสัชกร ผลการศึกษาวิจัย: จากการเปรียบเทียบผลลัพธ์ทางคลินิกก่อนและหลังการเยี่ยมบ้าน ในผู้ป่วยเบาหวาน 9 ราย พบว่ามี 2 รายที่ระดับน้ำตาลลดลง โดยมี 1 รายที่ระดับลดลงจนอยู่ในระดับเป้าหมาย ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง 12 ราย พบว่า 8 ราย มีระดับความดันโลหิตลดลง โดยมี 7 รายที่ลดลงจนอยู่ในระดับเป้าหมาย ส่วนผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ 5 ราย พบว่า สมรรถภาพปอดดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(59.03±22.9, 69.22±28.2; P=0.029) สำหรับการประเมินความพึงพอใจของผู้ที่ได้รับการเยี่ยมบ้าน พบว่า อยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด สำหรับปัญหาที่พบจากการเยี่ยมบ้าน เภสัชกรจะแก้ไขปัญหาโดยให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยและอาจส่งต่อแพทย์ ซึ่งพบปัญหาทั้งสิ้น 40 ปัญหา เฉลี่ย 2.35 ปัญหาต่อราย เภสัชกรให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยทุกราย มีการส่งต่อแพทย์ 11 ราย ซึ่งทุกรายได้รับการตอบสนองจากแพทย์ จากการแก้ไขปัญหา พบว่าสามารถแก้ไขปัญหาได้ 34 ปัญหา (ร้อยละ 85) สรุปผลการวิจัย: การให้การบริบาลทางเภสัชกรรมโดยการออกเยี่ยมบ้านของเภสัชกรประจำครอบครัว สร้างความพึงพอใจให้กับผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัว นอกจากนี้การค้นพบปัญหาของผู้ป่วยนำไปสู่การแก้ไขหรือส่งต่อเพื่อปรับเปลี่ยนการรักษาให้เหมาะสม มุ่งสู่เป้าหมายของการรักษา อันจะทำให้ผลลัพธ์ทางคลินิกของผู้ป่วยดีขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

Article Details

Section
Abstracts