การสำรวจประสบการณ์การเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาของผู้ป่วยในโรงพยาบาล

Main Article Content

อรุณโรจน์ ปัตสุรีย์
นฤมล เจริญศิริพรกุล

Abstract

บทนำ: ปัจจุบันผู้ป่วยให้ความสนใจในเรื่องโรคและสุขภาพที่ตนเป็นอยู่เพิ่มมากขึ้น ทั้งยังต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจเกี่ยวกับการรักษาที่ตนเองจะได้รับ ดังนั้นการให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการรายงานการเกิดไม่พึงประสงค์จากยา (adverse drug reactions; ADRs) จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เนื่องจากผู้ป่วยเป็นบุคคลแรกที่จะสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับประสบการณ์การเกิด ADRs ที่เกิดขึ้นกับตนผู้ป่วยเองได้ดีที่สุด การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจประสบการณ์การเกิด ADRs และลักษณะของ ADRs ที่เกิดขึ้นของผู้ป่วยในโรงพยาบาล วิธีการดำเนินการวิจัย: การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงสำรวจโดยให้ผู้ป่วยตอบแบบสอบถามด้วยตนเอง (self-administered questionnaire) ณ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น เก็บข้อมูลระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม 2554 และเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2555 ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การทดสอบไคสแควร์ (chi-square test) และนำเสนอผลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ผลการศึกษาวิจัย: ผู้ป่วยร้อยละ 95.3 (1095/1044) ตอบกลับแบบสอบถาม ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 57.1) อายุเฉลี่ย 39.6 ± 13.6 ปี และไม่มีโรคประจำตัวร่วม (ร้อยละ 59.0) จากจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดร้อยละ 24.7 รายงานว่าเคยมีประสบการณ์การเกิด ADRs ซึ่งผู้ป่วยในจำนวนนี้ร้อยละ 77 รายงานความรุนแรงของ ADRs อยู่ในระดับรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก กลุ่มยาที่ทำให้ผู้ป่วยเกิด ADRs มากที่สุดได้แก่ กลุ่มยาปฏิชีวนะ (ร้อยละ 33.1)  กลุ่มยาในระบบกล้ามเนื้อและกระดูก (ร้อยละ 15.5) และกลุ่มยาในระบบประสาทส่วนกลาง (ร้อยละ 14.9) ตามลำดับ ส่วนลักษณะของ  ADRs ที่ผู้ป่วยรายงานมากที่สุดได้แก่ ผื่น (ร้อยละ 25.2) คัน (ร้อยละ 11.7) และบวม (ร้อยละ 11.7) ตามลำดับ และแหล่งข้อมูลส่วนใหญ่ที่ผู้ป่วยใช้ในการยืนยันการเกิด ADRs ของตนเองคือ บุคลาการณ์ทางการแพทย์ (ร้อยละ 35.5) นอกจากนี้ยังพบว่าประสบการณ์การเกิด ADRs ของผู้ป่วย ระดับความรุนแรงของ ADRs ที่เกิดขึ้นและการรายงานให้แพทย์ทราบหลังจากเกิด ADRs ต่างก็เป็นปัจจัยที่มีผลต่อความมั่นใจในการประเมิน ADRs ด้วยตนเองของผู้ป่วย (p<0.05) สรุปผลการวิจัย: บุคลากรทางการแพทย์เป็นแหล่งข้อมูลหลักที่ผู้ป่วยใช้ยืนยันการเกิด ADRs ของตน ดังนั้นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ADRs โดยบุคคลากรทางการแพทย์จึงเป็นบทบาทสำคัญที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถระบุ ADRs ด้วยตนเองได้อย่างถูกต้องมากยิ่งขึ้น

Article Details

Section
Abstracts