ศึกษาเปรียบเทียบแนวคิดเรื่องวิปัสสนาญาณในพุทธปรัชญาเถรวาทกับแนวคิดอัชฌัตติกญาณของ โอโช่

ผู้แต่ง

  • พระมหาอิสรเชษฐ์ ปญฺญาวชิโร

คำสำคัญ:

การศึกษาเปรียบเทียบ, พุทธปรัชญา

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้  มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องวิปัสสนาญาณ ในพุทธปรัชญาเถรวาท และแนวคิดเรื่อง อัชฌัตติกญาณ ของโอโช่  และนำมาเปรียบเทียบให้เห็นถึงความคล้ายและความต่าง พอสรุปได้ดังนี้ 

ตามทัศนะพุทธปรัชญาเถรวาท  วิปัสสนาญาณ หมายถึง ปัญญาที่เห็นแจ้งในรูปนาม (ขันธ์ 5)   เห็นสภาวะการเกิด ñ ดับ ของรูปนาม เห็นรูปนามตกอยู่ในกฎแห่งไตรลักษณ์ คือ มีความเกิดขึ้น  ตั้งอยู่ และดับไป  และแนวทางการเกิดวิปัสสนาญาณ ใช้สติปัฏฐาน,อินทรีย์พละ,หลักไตรสิกขาเป็นบาทฐานการปฏิบัติ เพื่อนำไปสู่ความหลุดพ้น จาก กิเลส ตัณหา อุปาทาน

ตามทัศนะของโอโช่   อัชฌัตติกญาณ หมายถึง ความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ตรงที่เกิดขึ้นภายใน  อัชฌัตติกญาณ เป็นสภาวะที่เหนือจิตสำนึก  เป็นพลังสร้างสรรค์  การเข้าถึงอัชฌัตติกญาณต้องใช้ความรู้สึก ใช้สติระลึกรู้ตัว อยู่กับปัจจุบันขณะ ละทิ้งความคิดการปรุงแต่งทั้งหลายลงก็สามารถเข้าถึงอัชฌัตติกญาณได้

ความคล้ายกันของทั้งสองทัศนะ คือ (1) ในแง่ความหมาย คล้ายตรงที่ทัศนะทั้ง 2 กล่าวถึงความรู้เกิดมาจากสิ่งภายใน  เป็นความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ตรงไม่ผ่านการคิดหาเหตุผลใดๆ (2) ในแง่บ่อเกิด  คล้ายกันตรงที่ ความรู้ที่ได้มา เกิดจากการใช้ความรู้สึกล้วนๆ ไม่ใช้สมมติบัญญัติหรือการปรุงแต่งใดๆ เข้าไปรับรู้ ต่อสิ่งต่างๆ (3)  สภาวะลักษณะมีความคล้ายกันเพราะเป็นสภาวะอยู่เหนือจิตสำนึก  อยู่เหนือสิ่งสมมุติบัญญัติ (4) กระบวนการความรู้  คล้ายกันตรงที่ให้ความสำคัญต่อการใช้สติ ความระลึกรู้ตัว เป็นบาทฐาน (5) ในแง่จุดมุ่งหมาย คล้ายกันตรงที่ทำให้จิตหลุดพ้นจากความคิดปรุงแต่ง  เป็นจิตที่ว่างเปล่าอิสระจากสิ่งสมมติต่างๆ 

ความต่างกันของทั้ง 2 ทัศนะ คือ (1) ความต่างกันในเชิงความหมาย  อัชฌัตติกญาณของโอโช่ อีกความหมายหนึ่ง คือ ความรู้ที่เกิดโดยลางสังหรณ์  รู้เองเกิดขึ้นเอง  แล้วกลายเป็นพลังสร้างสรรค์  แต่วิปัสสนาญาณคือการรู้แจ้งเห็นจริง ในกายและใจ  เห็นสภาวะความไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา เท่านั้น (2) ในเรื่องบ่อเกิด  ความรู้ทางสัญชาตญาณที่ เป็นแหล่งที่สามารถนำไปสู่อัชฌัตติกญาณได้ ทางพุทธปรัชญา เห็นว่า บ่อเกิด ของวิปัสสนาเกิดจากใช้ความรู้สึกมองสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริงโดยใช้สัมมาสติ จนเกิดการรู้แจ้งวิปัสสนาญาณตามลำดับ (3) เรื่องสภาวะลักษณะ  อัชฌัตติกญาณมีลักษณะที่สมบูรณ์ในตัวเอง มีพลังในตัวเอง เป็นหนึ่งเดียวไม่มีการแบ่งแยก  แต่วิปัสสนาญาณเห็นสิ่งต่างๆ มีแต่ความแตกสลาย  คงทนอยู่อย่างเดิมไม่ได้  ไม่มีอะไรที่เป็นตัวตนที่แท้จริง (4) เรื่องของกระบวนการความรู้   อัชฌัตติกญาณเกิดจากการมีสติเพื่อตามรู้อารมณ์ที่ปรากฏทางกายและใจ  ที่แสดงออกมาตามแรงสัญชาตญาณจนเกิดการตื่นตัวทางอารมณ์  สามารถละความคิดการปรุงแต่งทั้งหลาย  เมื่อนั้นอัชฌัตติกญาณจะปรากฏ  ส่วนทางพุทธปรัชญา การมีสติตามรู้ตามดูทางกายและจิต โดยใช้สัมมาสติ  เพิ่มอารมณ์ที่เป็นกุศล  เพื่อให้เกิดวิปัสสนาญาณเห็นตามความเป็นจริง จนเกิดการพัฒนา ในระดับที่เป็นโลกิยะไปสู่โลกุตตระ (5) เรื่องจุดมุ่งหมาย  ความหลุดพ้นของโอโช่  คือ การก้าวไปสู่ความว่างแห่งจิตที่ไร้พันธนาการทางความคิด นำไปสู่จิตเดิมแท้ที่เป็นสภาวะของอัชฌัตติกญาณ ส่วนพุทธปรัชญาคือการหลุดพ้นจากกองทุกข์ พ้นกิเลส ตัณหา อุปาทาน  เข้าไปสู่นิพพาน หรือก้าวเข้าไปสู่ความเป็นอริยบุคคลชั้นสูง 

References

พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์. (2543) ทฤษฎีความรู้. โครงการสนับสนุนงานวิจัยคณะมนุษยศาสตร์. ภาควิชาปรัชญา และศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ชัยวัฒน์ อัตพัฒน์. (2542). ญาณวิทยา. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัย รามคำแหง.

โอโช่. (2546). คิดนอกรีต (creativity). กรุงเทพมหานคร: แปลนพรินท์.

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2539). พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย. กรุงเทพมหานคร: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

พระมหาวิรัตน์ อภิธมฺโม (2547) การศึกษาวิเคราะห์พรมแดนความรู้ในพุทธปรัชญา เถรวาทและเดวิด ฮิวม์. วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต. บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

พุทธทาสภิกขุ. (2540). ธรรมมานุกรมธรรมโฆษณ์ ฉบับประมวลธรรม 3. รวบรวม เรียบเรียงโดย พินิจ รักทองหล่อ. กรุงเทพมหานคร: สุขภาพใจ.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-07-17