การศึกษาเปรียบเทียบแนวคิดเรื่องเจตนาของพุทธปรัชญาเถรวาทกับเจตน์จำนงเสรีของ ฌอง -ปอล ซาร์ต

ผู้แต่ง

  • พระมหาพงศักดิ์ สิริคุตฺโต

คำสำคัญ:

การเปรียบเทียบ, ปรัชญาเถรวาท

บทคัดย่อ

การศึกษาเปรียบเทียบแนวคิดเรื่องเจตนาของพุทธปรัชญาเถรวาทกับเจตน์จำนงเสรีของซาร์ต มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาทัศนะเกี่ยวกับเจตนาในพุทธปรัชญาเถรวาท และเจตน์จำนงเสรีของ ฌอง- ปอล ซาร์ต และเพื่อศึกษาเปรียบเทียบถึงความเหมือน และความแตกต่างเกี่ยวกับทัศนะเรื่องเจตนาในพุทธปรัชญาเถรวาทกับเจตน์จำนงเสรีของ ฌอง - ปอล ซาร์ต มีจุดมุ่งหมายเพื่อการศึกษาเปรียบเทียบเจตนาของพุทธปรัชญาเถรวาทกับเจตน์จำนงเสรีของ ฌอง – ปอง ซาร์ต โดยผู้วิจัยได้แบ่งประเด็นในการศึกษาออกเป็น 6 ประการ คือ 1) ความหมาย 2) ขอบเขต 3) การกระทำ 4) ผลการกระทำ 5) อิสรภาวะของการกระทำ 6) จุดหมายหรือเป้าหมายของการกระทำ

ผลจากการวิจัยพบว่า เจตนาของพุทธปรัชญาเถรวาท เป็นตัวเริ่มต้นของกระบวนการกฎแห่งกรรม มนุษย์มีความตั้งใจ มีความจงใจ ที่จะเลือก คิด พูด ทำอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างเสรี ก็แสดงว่า มนุษย์มีเจตน์จำนงเสรีเช่นกัน เจตน์จำนงเสรีของซาร์ต ถูกนำเสนอขึ้นเพื่อกระตุ้นให้มนุษย์รู้ว่า มนุษย์มีสิ่งนี้อยู่ แต่มนุษย์เข้าใจผิดคิดว่า ตนเองไม่มี ซาร์ตจึงบอกว่า เดิมทีมนุษย์ว่างเปล่า ไม่เป็นอะไร ไม่มีอะไร แต่ที่มีอยู่และเป็นอยู่นั้น มนุษย์ได้ใช้เจตน์จำนงเสรีในการเลือกที่จะมี ที่จะเป็นทั้งนั้น แต่มีความแตกต่างกันในเรื่องเจตนาที่พุทธปรัชญาเถรวาทนั้นกล่าวถึงเจตนาที่เกิดขึ้นร่วมกันเจตสิกที่จะปรุงแต่งไปในทางที่ดีหรือทางที่ชั่ว แต่ซาร์ตไม่ได้กล่าวถึงส่วนนี้ไว้

ในขอบเขตของเจตนาของพุทธปรัชญาเถรวาทกับเจตน์จำนงเสรีของซาร์ตต่างก็กล่าวถึงการที่มนุษย์มีเจตนาและเจตน์จำนงเสรีเหมือนกันต่างแต่พุทธปรัชญาเถรวาทได้กล่าวถึงเจตนาที่เป็นไปทางกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม แต่ซาร์ตมิได้แยกเจตน์จำนงเสรีออกเป็นกระบวนธรรมต่างๆ เพียงแต่ได้ให้ทัศนะว่ามนุษย์มีเจตน์จำนงเสรีมาตั้งแต่เกิด

ส่วนความสัมพันธ์กันระหว่างเจตนากับเจตน์จำนงเสรีกับการกระทำทั้งพุทธปรัชญาเถรวาทและซาร์ตต่างกล่าวถึง การดำเนินชีวิตที่จะต้องมีความเกี่ยวเนื่องกันกับผู้อื่นในเมื่อมนุษย์ยังมีเจตนาและเจตน์จำนงเสรีอยู่ เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงหนีไม่พ้นที่ต้องรับผลที่ตนเองกระทำลงไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต่างแต่ระดับของการกระทำซึ่งพุทธปรัชญาเถรวาทได้กล่าวไว้อย่างเป็นระดับของการกระทำว่ามีเจตนามากน้อยเพียงใด แต่ซาร์ตไม่ได้แสดงถึงกระบวนการนี้ไว้

เมื่อมนุษย์ได้กระทำบางสิ่งบางอย่างลงไปย่อมที่จะไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลการกระทำของตนไปได้ โดยพุทธปรัชญาเถรวาทเรียกว่า วิบากกรรม และซาร์ตเรียกว่า การรับผิดชอบ แต่ซาร์ตได้แสดงถึงการรับผิดชอบที่เป็นไปในปัจจุบันเท่านั้นโดยถือว่า อดีตล่วงไปแล้ว อนาคตยังมาไม่ถึง มนุษย์จึงไม่ต้องรับผิดชอบ แต่พุทธปรัชญาเถรวาท กล่าวถึงเรื่องวิบากกรรม มีความเกี่ยวเนื่องกันทั้งที่เป็นอดีต ปัจจุบันและอนาคต

การดำเนินชีวิตที่เนื่องกันกับตนเองและผู้อื่นนั้น มีคำถามอยู่ว่า มนุษย์มีเจตนาหรือเจตน์จำนงเสรีอย่างอิสรภาวะหรือไม่ ซึ่งพุทธปรัชญาเถรวาทและซาร์ตต่างก็ได้ให้ความหมายที่คล้ายกันในเรื่องที่มนุษย์มีอิสระอยู่ แต่ภายใต้อิสระนั้นพุทธปรัชญาเถรวาทกล่าว มีอะไรบางอย่างมาบงการการกระทำนั้นๆ และซาร์ตมีทัศนะว่ามนุษย์มีอิสรภาวะมาตั้งแต่เกิด

ถ้ากล่าวถึงจุดหมายสูงสุดของทั้งสองทัศนะต่างก็ต้องการเข้าหาความว่างเหมือนกันแต่ในความหมายของคำว่า ว่าง ระหว่างพุทธปรัชญาเถรวาทกับซาร์ตนั้น มีความหมายที่แตกต่างกันออกไป นั่นก็คือ การที่ซาร์ตเสนอว่า ชีวิตเริ่มแรกว่างเปล่า มีความหมายในเชิงที่ว่า มนุษย์มีตัวตนที่ว่างเปล่า ไม่ใช่ว่างเปล่าจากตัวตนแบบพุทธปรัชญาเถรวาท เพราะการมีตัวตนที่ว่างเปล่าแต่สามารถเติมอะไรๆลงไปก็ได้ตามที่ตนเองเลือก

อีกประเด็นหนึ่ง มนุษย์ที่มีเสรีภาพ เขาเข้าใจผิดคิดว่า ตนเองไม่มี จึงปล่อยชีวิตเหมือนก้อนหิน เหมือนท่อนไม้ ปล่อยตนเองไปตามยถากรรม ไม่เลือก ไม่ขวนขวายหาทางให้ตนเอง นี่คือ จุดเน้นของซาร์ต

References

กมลรัตน์ อัตตปัญโญ. (2547: 32). ปราสาทศพ. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

นเรศ จำเจริญ. (2518). ล้านนาไทยปริทัศน์ เชียงใหม่ : กลางเวียงการพิมพ์.

พระยาปริยัติธรรมธาดา. (2530). จามเทวีวงศ์ พงศาวดารเมืองหริภุญไชย. พิมพ์ครั้งที่ 3. เชียงใหม่ : นครพิงค์การพิมพ์.

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2547). พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

มานิต มานิตเจริญ. (2537). พจนานุกรมไทย. กรุงเทพมหานคร : รวมสานส์.

ราชบัณฑิตยสถาน. (2528). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2525. กรุงเทพมหานคร : แพร่วิทยา.

ราชบัณฑิตยสถาน. (2525). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2525

บุญคิด วัชรศาสตร์. (ม.ป.ป.). อานิสงส์เสียศพ. เชียงใหม่ : โรงพิมพ์ธาราทอง.

บุญคิด วัชรศาสตร์. (2521). อรรถาภิธาน. กรุงเทพมหานคร : ซีเอ็ดยูเคชั่น.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-07-17