ผลของโปรแกรมการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ต่อพฤติกรรมก้าวร้าวของเด็กในสถานสงเคราะห์เด็กชาย

Main Article Content

ภราดร ยิ่งยวด
อาภาพร เผ่าวัฒนา
นฤมล เอื้อมณีกูล

บทคัดย่อ

เด็กและเยาวชนไทยมีแนวโน้มใช้ความรุนแรงเพิ่มขึ้นและมีอายุเฉลี่ยในการใช้ความรุนแรงน้อยลง พฤติกรรมก้าวร้าวที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความฉลาดทางอารมณ์ที่ลดลง การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ต่อพฤติกรรมก้าวร้าวของเด็กในสถานสงเคราะห์เด็กชาย กลุ่มตัวอย่าง คือ เด็กชายอายุ 9-11 ปี อาศัยอยู่ในสถานสงเคราะห์ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล จำนวน 60 คน โปรแกรมการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ประยุกต์ใช้แนวคิดของกรมสุขภาพจิต ระยะเวลาในการศึกษา 10 สัปดาห์ เก็บรวบรวมข้อมูล โดยวิธีการตอบแบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์โดยพี่เลี้ยงและตอบแบบประเมินพฤติกรรมก้าวร้าวด้วยตนเองในระยะก่อน-หลังการทดลองและระยะติดตามผล วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน Chi-square, t-test, Repeated Measure ANOVA


ผลการวิจัยพบว่า เมื่อสิ้นสุดการทดลอง กลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยความฉลาดทางอารมณ์เพิ่มขึ้นและมีคะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมก้าวร้าวลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  (p = .000) แต่เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม พบว่าคะแนนความฉลาดทางอารมณ์และพฤติกรรมก้าวร้าวไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = .708)

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ (Original Articles)