การเปรียบเทียบความวิตกกังวลก่อนและหลังการทำกิจกรรมห้องสบายดี ในญาติผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย

Main Article Content

ศักดา เอกัคคตาจิต

บทคัดย่อ

บทนำ: โรคมะเร็งนับว่าเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งของคนไทย โดยพบว่าโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายสูงเป็นอันดับ1ของคนไทยในปัจจุบัน ซึ่งการเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งในระยะสุดท้ายที่จำเป็นต้องให้การดูแลรักษาแบบประคับประคอง ส่งผลให้ญาติที่ให้การดูแลผู้ป่วยจนวาระสุดท้ายต้องพบกับความทุกข์ ความรู้สึกหม่นหมองในจิตใจ ในบางรายอาจมีการปิดบังข้อมูลความจริงกับผู้ป่วย ซึ่งล้วนทำให้เกิดความวิตกกังวลอย่างต่อเนื่องได้ การทำกิจกรรมร่วมกันเพื่ออธิบายการดำเนินโรค แนวทางการให้การรักษาเพื่อบรรเทาความทุกข์ทรมาน การทำความเข้าใจ และให้กำลังใจกับญาติผู้ป่วย โดยทีมผู้ให้การรักษาอาจช่วยลดระดับความวิตกกังวลของญาติลงได้
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบความวิตกกังวลของญาติผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายก่อนและหลังการทำกิจกรรมห้องสบายดี
สถานที่ทำการศึกษา: โรงพยาบาลบ้านด่าน อำเภอบ้านด่าน จังหวัดบุรีรัมย์
วิธีการศึกษา: การวิจัยแบบทดลองเบื้องต้น ในญาติผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลบ้านด่าน ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2561 ถึง 12 กรกฎาคม พ.ศ.2561 โดยกลุ่มตัวอย่างจะได้รับการประเมินระดับความวิตกกังวล ก่อนเข้าร่วมทำกิจกรรมห้องสบายดี และประเมินระดับความวิตกกังวลอีกครั้งหลังจากทำกิจกรรมโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปในการวิเคราะห์ข้อมูล และใช้สถิติเชิงพรรณนา, Paired T-test ในการแปลผลการวิจัย
ผลการศึกษา: จากกลุ่มตัวอย่าง 29 ราย แบ่งเป็นชาย 8 ราย(ร้อยละ27.6) หญิง 21 ราย(ร้อยละ72.4) อายุระหว่าง 14-78 ปี พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความวิตกกังวล อยู่ในระดับต่ำ ร้อยละ 3.5 ส่วนใหญ่อยู่ในระดับปานกลางร้อยละ 48.2 ระดับมากร้อยละ 44.8 และระดับสูงมากร้อยละ 3.5 หลังจากทำกิจกรรมห้องสบายดีพบว่าความวิตกกังวลของกลุ่มตัวอย่างลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติp<0.05)โดยพบอยู่ในระดับต่ำ ร้อยละ 79.3 ระดับปานกลาง ร้อยละ 20.7 โดยไม่พบระดับมากและสูงมาก โดยค่าเฉลี่ยคะแนนความวิตกกังวล ลดลงจากการประเมินผลหลังการทำกิจกรรมห้องสบายดี พบว่า ญาติผู้ป่วย มีความวิตกกังวลลดลง จากค่าเฉลี่ยคะแนนความวิตกกังวล ที่ระดับคะแนน 57.9 (ระดับปานกลาง) เหลือ 38.7 (ระดับต่ำ)
สรุปและข้อเสนอแนะการทำกิจกรรม: ห้องสบายดีช่วยลดความวิตกกังวลของญาติผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายลงได้ และทีมผู้ให้บริการทางการแพทย์ ควรให้เวลาทำกิจกรรมร่วมกับผู้ป่วย และญาติผู้ดูแล เพื่อสอบถามถึงความรู้ความเข้าใจในตัวโรค พยากรณ์โรค ของผู้ป่วย เพื่อสามารถให้คำอธิบายแนวทางการดูแลที่เหมาะสมในโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ ซึ่งจะทำให้ทีมผู้ให้การรักษา รวมถึงผู้ป่วย ญาติผู้ดูแล มีเป้าหมายร่วมกัน ในการวางแผนการดูแลในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของผู้ป่วย ให้เกิดคุณค่า ทั้งกับผู้ป่วยและญาติให้มากที่สุด ซึ่งจะช่วยลดความวิตกกังวลในการดูแลผู้ป่วย ได้
คำสำคัญ: กิจกรรมห้องสบายดี ความวิตกกังวล การดูแลรักษาแบบประคับประคอง ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ

References

1. คณะกรรมการจัดทำแผนการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. แผนการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งแห่งชาติ พ.ศ.2556-2560. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย; 2556:9-14.

2. กิติพล นาควิโรจน์. คู่มือการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายและครอบครัว. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร : บียอนด์ เอ็นเทอร์ไพรซ์ จำกัด; 2559:91-103.

3. ปัทมา โกมุทบุตร. เวชปฏิบัติการบริบาลบรรเทาสําหรับแพทย์เวชปฏิบัติครอบครัว. (อินเตอร์เน็ท) [สืบค้นเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2560] : เข้าถึงได้จาก URL : https://Users/User/Downloads/Palliative739_handout_patama_2014.pdf.

4. ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์. Psychiatric Symptoms Assessment and Management in Palliative Care. ใน : กิตติพล นาควิโรจน์, บรรณาธิการ. คู่มือการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายและครอบครัว.กรุงเทพมหานคร : บียอนด์ เอ็นเทอร์ไพรซ์ จำกัด; 2559:187-93.

5. พิกุลรัตน์ วงศ์พานิชย์, วิไล ตั้งสถิตพร. การพัฒนาคุณภาพงานโดยการให้ข้อมูลเพื่อลดความวิตกกังวลของมารดาผู้ป่วยเด็กภาวะวิกฤตในหออภิบาลผู้ป่วยเด็ก(PICU). สงขลานครินทร์เวชสาร 2548;23:240-4.

6. อุไรวรรณ พลจร. ผลของการสวดมนต์แบบพุทธ ต่อความวิตกกังวลของผู้ป่วยมะเร็งโลหิตวิทยาที่ ได้รับเคมีบำบัด. [วิทยานิพนธ์ปริญญาพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต(การพยาบาลผู้ใหญ่)]. ภาควิชาพยาบาลศาสตร์, บัณฑิตวิทยาลัย; สงขลา : มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์; 2558.

7. แบบวัดความวิตกกังวลสปิลเบอร์เกอร์. (อินเตอร์เน็ท). [สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2561] : เข้าถึงได้จาก URL : https://www.cumentalhealth.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539909329

8. กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. คู่มือการให้การปรึกษาขั้นพื้นฐาน. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร : สำนักงานกิจการโรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก; 2546.

9. สายพิณ หัตถีรัตน์. ทำอย่างไรเมื่อญาติไม่ให้แจ้งข่าวร้ายให้ผู้ป่วยทราบ. (อินเตอร์เน็ท). 2549. [สืบค้นเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2561] : เข้าถึงได้จาก URL : https://www.doctor.or.th/clinic/detail/8349

10. อิสรีย์ ศรีศุภโอฬาร, นรลักขณ์ เอื้อกิจ. ผลของโปรแกรมการตอบสนองความต้องการของครอบครัวผู้ป่วยวิกฤตต่อความวิตกกังวลของสมาชิกครอบครัวผู้ป่วยวิกฤต. วารสารพยาบาลสงขลานครินทร์ 2559:36;77-93.