ความรู้และความสามารถของนักประเมินราคาทรัพย์สินต่อกระบวนการประเมินราคาทรัพย์สิน

Main Article Content

ภานุพงศ์ นิลตะโก
อธิยุต ทัตตมนัส
วนิดา ศิริเลิศตระกูล

บทคัดย่อ

การประเมินราคาทรัพย์สินเป็นวิชาชีพที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ ทั้งภาคประชาชน เอกชน และรัฐบาล โดยเฉพาะสถาบันทางการเงินและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยขั้นตอนการประเมินราคาทรัพย์สิน จะเป็นการให้ความเห็นในด้านมูลค่าของทรัพย์สิน โดยนักประเมินราคาทรัพย์สิน ตามหลักกระบวนการประเมินราคาทรัพย์สิน และมาตรฐานและจรรยาบรรณของวิชาชีพ เป็นไปตามหลักวิชาการและแนวทางการประเมินราคาทรัพย์สินโดยสากล ดังนั้นนักประเมินราคาทรัพย์สินจึงมีบทบาทสำคัญและมีความจำเป็นต่อระบบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มาก โดยงานวิจัยนี้จัดทำขึ้นเพื่อมุ่งหวังที่จะได้ทราบถึงกระบวนการประเมินราคาทรัพย์สิน ภาระงาน ความรู้ และความสามารถของนักประเมินราคาทรัพย์สินต่อกระบวนการประเมินราคาทรัพย์สิน เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาหลักสูตรการประเมินราคาทรัพย์สิน และหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง และเป็นไปตามความต้องการของบริษัทเอกชน


ผลการศึกษาจากการสัมภาษณ์บริษัทที่มีความเกี่ยวข้องกับการประเมินราคาทรัพย์สิน จำนวน 10 บริษัท และจากแบบสอบถามนักประเมินราคาทรัพย์สิน จำนวน 315 คน พบว่าวิชาชีพการประเมินราคาทรัพย์สิน เป็นวิชาชีพที่ต้องใช้ความรู้ และความสามารถเฉพาะทางในการประเมินราคาทรัพย์สิน ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับกระบวนการประเมินราคาทรัพย์สิน ทั้งหมด 7 ขั้นตอน อันเป็นปัจจัยสำคัญในการวิเคราะห์เพื่อระบุความรู้ และความสามารถในการปฏิบัติงานการประเมินราคาทรัพย์สินของนักประเมินราคาทรัพย์สิน จากการวิจัยพบว่านักประเมินราคาทรัพย์สินในแต่ละตำแหน่งงานต้องมีความรู้ และความสามารถในการปฏิบัติงานฯ เหมือนกัน โดยความแตกต่างกันของตำแหน่งงาน คือ ความเชี่ยวชาญในความรู้ และความสามารถต่อการปฏิบัติงานฯ ทั้งนี้ผู้วิจัยสามารถสรุปได้ว่าความเชี่ยวชาญในความรู้ และความสามารถมาจาก “ประสบการณ์” ทำงานทางด้านการประเมินราคาทรัพย์สิน โดยนักประเมินราคาทรัพย์สิน ที่มีประสบการณ์ในการทำงาน ต่ำกว่า 1 ปี หรือ 1-2 ปี เป็นนักประเมินราคาทรัพย์สินที่พึ่งจะจบการศึกษา ทั้งสาขาที่เกี่ยวข้องกับการประเมินราคาทรัพย์สิน หรือเกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งตามมาตรฐานจรรยาบรรณวิชาชีพการประเมินราคาทรัพย์สิน กำหนดให้ผู้ที่สามารถปฏิบัติงานในวิชาชีพนี้ได้ จะต้องมีคุณวุฒิการศึกษา ความรู้ความสามารถ ความชำนาญ ประสบการณ์ทางวิชาชีพ และมีความรู้ความสามารถเพียงพอต่อการประเมินราคาทรัพย์สิน จากการสรุปผลพบว่านักประเมินราคาทรัพย์สินที่มีประสบการณ์ในการทำงาน ต่ำกว่า 1 ปี หรือ 1-2 ปี ยังไม่สามารถปฏิบัติงานได้ครบทั้ง 7 ขั้นตอนตามที่มาตรฐานจรรยาบรรณวิชาชีพกำหนดไว้ และนักประเมินราคาทรัพย์สิน ที่มีประสบการณ์ในการทำงานมากกว่า 10 ปีขึ้นไป ซึ่งส่วนใหญ่จะดำรงตำแหน่งผู้บริหาร ผู้จัดการ และผู้อำนวยการ มีหน้าที่ตรวจความเรียบร้อยของเล่มรายงานการประเมินราคาทรัพย์สิน วางแผนการทำงาน การบริหารงานองค์กร เป็นต้น จึงไม่มีโอกาสได้ปฏิบัติงานตามกระบวนการประเมินราคาทรัพย์สิน แต่อย่างไรก็ตามมาตรฐานจรรยาบรรณวิชาชีพการประเมินราคาทรัพย์สิน กำหนดให้นักประเมินราคาทรัพย์สินต้องหมั่นศึกษา และเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมทางวิชาชีพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อพัฒนาและเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาชีพ และความรู้ในสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเพื่อพัฒนาคุณภาพของงานบริการให้ได้มาตรฐานตลอดเวลา


ข้อเสนอแนะ บริษัทควรมีการจัดการอบรม หรือสนับสนุนให้นักประเมินราคาทรัพย์สิน เข้าร่วมการอบรมทางวิชาชีพเพื่อเป็นการพัฒนาความรู้ และส่งเสริมความสามารถในการปฏิบัติงานการประเมินราคาทรัพย์สิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรู้และความสามารถที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนที่ 5 เรื่อง การประเมินมูลค่าทรัพย์สิน สถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนด้านการประเมินราคาทรัพย์สิน หรือด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ควรเน้นให้นักศึกษามีการฝึกปฏิบัติงานมากขึ้น เพื่อให้นักศึกษาสามารถนำทฤษฎี มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการประเมินราคาทรัพย์สิน ทั้ง 7 ขั้นตอน การจัดหลักสูตรการอบรมระยะสั้น ของสมาคมนักประเมินราคาอิสระไทย และสมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย หรือหน่วยงานเอกชนอื่นๆ ในการจัดอบรมด้านการประเมินราคาทรัพย์สิน ควรมีการแบ่งเกณฑ์ระดับประสบการณ์ของนักประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อง่ายต่อการเรียนรู้

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

1. กิตติ พัฒพงศ์พิบูล. (2541). บทบาทและทิศทางของผู้ประเมินราคาทรัพย์สินในประเทศไทย. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ศุธาศิน.

2. เจริญ เจษฎาวัลย์. (2548). คู่มือการประเมินราคาทรัพย์สิน. กรุงเทพมหาคร: พอดี พริ้นติ่ง.

3. ปภากร สุวรรณธาดา. (2556). สมรรถนะของนักประเมินมูลค่าทรัพย์สินในประเทศไทย. วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการภาครัฐและเอกชน มหาวิทยาลัยคริสเตียน.

4. พัชรา พัชราวนิช. (2542). บทบาทของผู้ประเมินราคาทรัพย์สินแห่งประเทศไทย. คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. กรุงเทพมหานคร:

5. ไพโรจน์ ซึงศิลป์. (2547). หลักการประเมินราคาทรัพย์สิน. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ศุธาศิน.

6. วารุณี ตั้งสถาเจริญพร และอัจฉราพร ศรีภูษณาพรรณ. (2555). ความสามารถในการทำงานของพยาบาลวิชาชีพในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิตสาขาวิชาพยาบาล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

7. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์. รายชื่อบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุนและผู้ประเมินหลักที่ได้รับความเห็นชอบ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : https://www.sec.or.th/TH/RaisingFunds/EquityDebt/Documents/list_professional/valuer.xls. 2558.

8. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และสถาบันคีนันแห่งเอเซียด้วยการสนับสนุนเงินทุนจากองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา. มาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพการประเมิน. มูลค่าทรัพย์สิน. [ออนไลน์]. สืบค้นจาก : https://capital.sec.or.th/webapp/nrs/data/5961s.pdf. 2560.

9. อนุชา กุลวิสุทธิ์. (2555). ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์แบบมืออาชีพ. กรุงเทพมหานคร: พิมพ์ดีการพิมพ์.