ถ้อยคำแสดงการเป็นผู้ฟังในภาษาไทย: การศึกษาตามแนวสนทนาวิเคราะห์

Main Article Content

นริศรา หาสนาม

บทคัดย่อ

ถ้อยคำแสดงการเป็นผู้ฟัง (backchannel) เป็นหัวข้อที่สำคัญที่นักสนทนาวิเคราะห์และนักภาษาสนใจศึกษา เนื่องจากถ้อยคำแสดงการเป็นผู้ฟังเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการสนทนา หากปราศจากถ้อยคำแสดงการเป็นผู้ฟัง อาจจะทำให้การสนทนาไม่ราบรื่นและยุติลงในเวลาอันสั้น แม้ว่าถ้อยคำแสดงการเป็นผู้ฟังจะปรากฏในทุกภาษา แต่งานวิจัยที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า ผู้ฟังในแต่ละวัฒนธรรมกล่าวถ้อยคำแสดงการเป็นผู้ฟังในลักษณะที่แตกต่างกันที่ผ่านมาแทบจะยังไม่มีงานวิจัยใดที่ศึกษาถ้อยคำแสดงการเป็นผู้ฟังในภาษาไทยในการสนทนาแบบเผชิญหน้าซึ่งเป็นการสนทนาขั้นพื้นฐานในชีวิตประจำวัน ด้วยเหตุนี้ผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาถ้อยคำแสดงการเป็นผู้ฟังในภาษาไทย ๓ ด้าน ได้แก่ ๑) รูปแบบ ๒) ตำแหน่ง และ ๓) หน้าที่ในการสนทนาภาษาไทยแบบเผชิญหน้า ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษามาจากการสนทนาของคู่สนทนาเพศหญิงที่มีสถานภาพเท่ากัน จำนวน ๙ คู่ (๑๘ คน) ความยาว ๑๘๒.๘๗ นาที ผลการวิจัยพบว่า รูปแบบของถ้อยคำแสดงการเป็นผู้ฟังในภาษาไทยที่พบบ่อย ได้แก่ ถ้อยคำสั้น ๆ จำพวก อืม เออ อ๋อ เป็นต้น ถ้อยคำอุทาน ถ้อยคำประเมินค่า ถ้อยคำถามสั้น ๆ เช่น จริงดิ จริงหรอ หรอ เป็นต้น ถ้อยคำที่กล่าวซ้ำคู่สนทนา และถ้อยคำที่กล่าวต่อถ้อยคำคู่สนทนาสั้น ๆ ตำแหน่งของถ้อยคำแสดงการเป็นผู้ฟังที่ปรากฏบ่อย ได้แก่ ตำแหน่งที่กล่าวจบถ้อยคำและกล่าวแทรก ส่วนหน้าที่ของถ้อยคำแสดงการเป็นผู้ฟัง นอกจากจะแสดงการเป็นผู้ฟังแล้ว ยังมีหน้าที่
ที่พบบ่อยอื่น ๆ อีก ได้แก่ รับรู้ เข้าใจ นึกออก เห็นด้วย ยืนยัน แสดงอารมณ์ความรู้สึก และขอความกระจ่าง ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ผู้ฟังในภาษาไทยมีแนวโน้มที่จะปฏิสัมพันธ์เชิงสนับสนุนการพูดของ ผู้พูดและมีส่วนร่วมในการสนทนาเป็นอย่างมาก

Article Details

บท
Articles