ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพตามแนวคิดภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย

ผู้แต่ง

  • ธนวันต์ ศรีอมรรัตนกุล
  • จินดามาศ โกศลชื่นวิจิตร
  • นางปรียาวรรณ วิบูลย์วงศ์
  • มัตถก ศรีคล้อ

คำสำคัญ:

ปัจจัย, ปัญหาสุขภาพ, ภูมิปัญญา, การแพทย์แผนไทย, สมุฏฐาน

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้เป็นวิจัยเชิงบรรยาย เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพของประชาชนแฟลตดินแดงตามแนวคิดภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย โดยศึกษาตามกรอบแนวคิดด้านการแพทย์แผนไทยในด้านอุตุสมุฏฐาน อายุสมุฏฐาน กาลสมุฏฐาน ประเทศสมุฏฐาน ธาตุเจ้าเรือน และพฤติกรรมมูลเหตุก่อโรค กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นประชาชน แฟลตดินแดง จังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 392 คน ระยะเวลาในการศึกษาตั้งแต่ เดือน สิงหาคม 2559 ถึง มกราคม 2560 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบสอบถามเกี่ยวกับ อุตุสมุฏฐาน อายุสมุฏฐาน กาลเวลาสมุฏฐาน ประเทศ สมุฏฐาน แบบสอบถามธาตุเจ้าเรือน และพฤติกรรมมูลเหตุก่อโรค และแบบสอบถามปัญหาสุขภาพ วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าจำนวน ร้อยละ และค่าสถิติไคสแควร์

ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้

1. กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ มีช่วงฤดูกาลที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ (อุตุสมุฏฐาน) คือ ช่วงฤดูร้อน จำนวน 145 คน คิดเป็น ร้อยละ 36.99 ช่วงอายุที่เกิดโรค (อายุสมุฏฐาน) คือ มีอายุมากกว่า 32 ปี (อายุสมุฏฐาน) จำนวน 194 คน คิดเป็นร้อยละ 49.50 มีช่วงเวลาที่เกิดปัญหาสุขภาพ (กาลสมุฏฐาน) คือ เวลา 10.00-14.00 น. จำนวน 157 คน คิดเป็นร้อยละ 40.05 สถานที่เกิดปัญหาสุขภาพ (ประเทศสมุฏฐาน) อาศัยอยู่ภาคกลาง จำนวน 146 คน คิดเป็นร้อยละ 37.25 มีธาตุเจ้าเรือนเป็นธาตุนํ้า จำนวน 105 คน คิดเป็นร้อยละ 26.78 มีพฤติกรรมกินอาหารไม่ถูกกับธาตุ จำนวน 93 คน คิดเป็นร้อยละ 23.72 รองลงมาคือ ขาดอุเบกขา จำนวน 80 คน คิดเป็นร้อยละ 20.41 ส่วนใหญ่ เป็นโรคความดันโลหิตสูงมากที่สุด จำนวน 93 คน คิดเป็นอัตราความชุก 33.70 รองลงมาคือ โรคเบาหวาน และไขมันในเลือดสูง จำนวน 75 คน และ 73 คน คิดเป็น ร้อยละ 27.17 และ 26.45 ตามลำดับ

2. อุตุสมุฏฐาน ประเทศสมุฏฐาน ธาตุเจ้าเรือน พฤติกรรมมูลเหตุก่อโรค ด้านการฝืนอิริยาบถ การอดอาหาร การกลั้น อุจจาระปัสสาวะ การมีโทสะมากเกินไป ไม่มีความสัมพันธ์กับโรคความดันโลหิตสูง

3. อายุสมุฏฐาน กาลสมุฏฐาน พฤติกรรมมูลเหตุก่อโรคด้านการกินอาหารไม่ถูกกับธาตุ การกระทบร้อนหรือเย็นเกินไป การทำงานเกินกำลังมาก และการขาดอุเบกขา มีความสัมพันธ์กับโรคความดันโลหิตสูง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-08-01