ผลของการโค้ชต่อการปฏิบัติของพยาบาลในการจัดท่านอนทารกเกิดก่อนกำหนด ที่ใส่ท่อหลอดลมคอ

Authors

  • ธิติมา แปงสุข
  • มาลี เอื้ออำนวย
  • จุฑามาศ โชติบาง

Keywords:

การโค้ช, การปฏิบัติการพยาบาล, การจัดท่านอน, ทารกเกิดก่อนกำหนด

Abstract

     การจัดท่านอนของทารกเกิดก่อนกำหนดที่ใส่ท่อหลอดลมคอที่ดีในหออภิบาลทารกแรกเกิด มีความสำคัญต่อการส่งเสริมพัฒนาการของกล้ามเนื้อและกระดูกของทารกเกิดก่อนกำหนดให้เป็นไปตามปกติ พยาบาลต้องมีทั้งความรู้และทักษะที่ดีในการจัดท่านอนทารกเกิดก่อนกำหนดได้เหมาะสม

     การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง เพื่อศึกษาผลของการโค้ชต่อการปฏิบัติของพยาบาลในการจัดท่านอนทารกเกิดก่อนกำหนดที่ใส่ท่อหลอดลมคอ กลุ่มตัวอย่างคือพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในหออภิบาลทารกแรกเกิด โรงพยาบาลลำปาง จำนวน 18 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินการวิจัย ได้แก่ ภาพสไลด์พาวเวอร์พอยท์ คู่มือการปฏิบัติ แผนการโค้ช และแบบฟอร์มสำหรับพยาบาลประเมินตนเองในการจัดท่านอนทารกเกิดก่อนกำหนดที่ใส่ท่อหลอดลมคอ เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสังเกตการปฏิบัติของพยาบาลในการจัดท่านอนทารกเกิดก่อนกำหนดที่ใส่ท่อหลอดลมคอ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา และสถิติไคสแควร์

ผลการศึกษาพบว่า ภายหลังการโค้ชพยาบาลมีสัดส่วนการปฏิบัติที่ถูกต้องในการจัดท่านอนทารกเกิดก่อนกำหนดที่ใส่ท่อหลอดลมคอมากกว่าก่อนได้รับการโค้ชอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 โดยมีการปฏิบัติที่ถูกต้องในการประเมินอาการก่อนการจัดท่านอนทารกเกิดก่อนกำหนดเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 31.90 เป็นร้อยละ 91.43 การปฏิบัติที่ถูกต้องในการจัดท่านอนทารกเกิดก่อนกำหนดเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 54.40 เป็นร้อยละ 92.74 และการปฏิบัติที่ถูกต้องในการประเมินอาการภายหลังการจัดท่านอนทารกเกิดก่อนกำหนดเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 20.95 เป็น ร้อยละ 94.29

      ผลการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า การโค้ชสามารถทำให้พยาบาลมีความรู้และทักษะในการจัดท่านอนทารกเกิดก่อนกำหนดที่ใส่ท่อหลอดลมคอเพิ่มขึ้น ดังนั้นการส่งเสริมให้มีการโค้ชโดยผู้เชี่ยวชาญให้แก่พยาบาลในการปฏิบัติการจัดท่านอนทารกเกิดก่อนกำหนดที่ใส่ท่อหลอดลมคอ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

Downloads

Published

2018-03-13

How to Cite

แปงสุข ธ., เอื้ออำนวย ม., & โชติบาง จ. (2018). ผลของการโค้ชต่อการปฏิบัติของพยาบาลในการจัดท่านอนทารกเกิดก่อนกำหนด ที่ใส่ท่อหลอดลมคอ. Nursing Journal CMU, 44(3), 1–8. Retrieved from https://he02.tci-thaijo.org/index.php/cmunursing/article/view/115300