ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ผ้าไหมของผู้บริโภคในเขตเทศบาลนครขอนแก่น

Main Article Content

ณัชชาภัทร เวียงแสง

Abstract

บทคัดย่อ

      การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ คือ ๑) เพื่อศึกษาพฤติกรรมและแนวโน้มความต้องการซื้อผลิตภัณฑ์ผ้าไหมของผู้บริโภคในเขตเทศบาลนครขอนแก่น และ ๒) เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ผ้าไหมของผู้บริโภคในเขตเทศบาลนครขอนแก่น กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือ ผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ผ้าไหมในเขตเทศบาลนครขอนแก่น ซึ่งไม่ทราบจำนวนประชากรที่แน่นอน จึงคำนวณหาขนาดกลุ่มตัวอย่างจากสูตรที่ไม่ทราบจำนวนประชากร ของ W.G.cochran ได้จำนวน ๓๓๐ คน เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามโดยการทดสอบความตรงดัชนีความสอดคล้องระหว่างข้อคำถามและวัตถุประสงค์ (Item-Objective Congruence Index : IOC) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ การแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ (Percentage)  ค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)  การวิเคราะห์องค์ประกอบ (Principal Component Analysis) และใช้วิธีหมุนแกนออโธโกนอลแบบวาริแมกซ์ (Varimax Orthogonal Rotation) เพื่อสกัดตัวแปรที่ไม่สำคัญออกไป โดยพิจารณาค่าสัมประสิทธิ์คะแนนองค์ประกอบ (Factor Score Coefficient) ตั้งแต่ ๐.๓๐ ขึ้นไป เป็นตัวแปรสำคัญ

        ผลการวิจัยพบว่า

      ๑. พฤติกรรมและแนวโน้มความต้องการซื้อผลิตภัณฑ์ผ้าไหม โดยรวมอยู่ในระดับสำคัญมาก เมื่อจำแนกเป็นรายด้านส่วนใหญ่ผู้บริโภคให้ความสำคัญในด้านการใช้พนักงานขายรองลงมาเป็นด้านผลิตภัณฑ์, ด้านราคา ตามลำดับ

      ๒. ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ผ้าไหมของผู้บริโภคประกอบด้วย ๑๔ ประเด็นสำคัญ ได้แก่ ๑) ทำเลที่ตั้งของร้านไปมาได้สะดวก ๒) มีการจำหน่ายทั้งปลีกและส่ง   ๓) บรรจุภัณฑ์มีความสวยงาม ๔) มีราคาเหมาะสมกับคุณภาพ ๕) บรรจุภัณฑ์สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์อย่างอื่นต่อได้ ๖) มีป้ายแสดงราคาสินค้าอย่างชัดเจน ๗) บรรจุภัณฑ์มีความทันสมัย ๘) สถานที่จอดรถสะดวกสบาย ๙) ลักษณะลวดลายผ้า ๑๐) พนักงานมีความรู้เกี่ยวกับผ้าไหมเป็นอย่างดี ๑๑) พนักงานสามารถชี้แจงข้อสงสัยได้ ๑๒) การตกแต่งร้านค้าหรูหรา โชว์สินค้าดึงดูดให้น่าสนใจ ๑๓) สามารถชำระด้วยบัตรเครดิตได้ และ ๑๔) มีบริการสั่งซื้อทางอินเตอร์เน็ตซึ่งสามารถอธิบายความแปรปรวนได้โดยพิจารณาจากค่าสัมประสิทธิ์คะแนนตั้งแต่ ๐.๓ ขึ้นไป เป็นตัวแปรสำคัญ ผลการศึกษาข้างต้นพบว่า ค่าสัมประสิทธิ์ของการวัดความพอเพียงของข้อมูลการสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีวัดแบบไกเซอร์ เมเยอร์ โอลกิน (Kaiser-Meyer-Olkin Measure of Sampling Adequacy (KMO)) มีค่าเท่ากับ ๐.๘๙๕ นอกจากนี้ ยังพบว่า ข้อมูลทั้งหมดสามารถสกัดองค์ประกอบได้เป็น ๗ องค์ประกอบ โดยทั้ง ๗ องค์ประกอบ สามารถอธิบายความแปรปรวนได้ร้อยละ ๖๕.๖๘๔ อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ ๐.๐๕

Article Details

Section
บทความวิจัย (Research Article)