การพัฒนาปัญญาตามแนวพุทธจริยศาสตร์ของสำนักปฏิบัติธรรมวัดโพธิ์บ้านโนนทัน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

Main Article Content

ผศ.ดร.จักรพรรณ วงศ์พรพวัณ

Abstract

บทคัดย่อ

       การวิจัยเรื่อง “การพัฒนาปัญญาตามแนวพุทธจริยศาสตร์ของสำนักปฏิบัติธรรมวัดโพธิ์บ้านโนนทัน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น” มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ คือ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดการพัฒนาปัญญาตามแนวพุทธจริยศาสตร์ ๒) เพื่อศึกษาการพัฒนาปัญญาตามแนวพุทธจริยศาสตร์ของสำนักปฏิบัติธรรมวัดโพธิ์บ้านโนนทัน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น และ ๓) เพื่อวิเคราะห์ผลการพัฒนาปัญญาตามแนวพุทธจริยศาสตร์ของสำนักปฏิบัติธรรมวัดโพธิ์บ้านโนนทัน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

         ผลการวิจัยพบว่า การพัฒนาปัญญาตามแนวพุทธจริยศาสตร์ จะต้องปฏิบัติให้ไปตามกระบวนการของหลักไตรสิกขาเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดของชีวิต โดยเริ่มจากหลักศีลสิกขา หรือกระบวนการระเบียบปฏิบัติ (วินัย) เพื่อให้เกิดวาจาชอบการกระทำชอบ และการประกอบอาชีพชอบเป็นแนวทางและกรอบที่กำกับการกระทำหรือการประกอบกิจกรรมต่างๆ ให้เกิดความเรียบร้อยดีงาม จากนั้นก็ยกขึ้นสู่ระดับสมาธิสิกขาหรือกระบวนการฝึกอบรมจิต เพื่อให้จิตมีการพัฒนาความสำนึกให้เกิดความสมดุลระหว่างกายและจิตเป็นกระบวนการเกื้อหนุนให้สิ่งที่รับเข้ามาในชีวิตดำเนินไปด้วยประสิทธิภาพสูงสุด และกระบวนสุดท้ายคือปัญญาสิกขาหรือกระบวนการทางความรู้เป็นวิธีการอบรมศึกษาเพื่อให้เกิดวิชาความรู้และปัญญาซึ่งจะยังผลให้เกิดมีทัศนะความเชื่อค่านิยมที่ถูกต้องมีความดำริตริตรองที่ชอบถือได้ว่าเป็นกระบวนการพัฒนาปัญญาขั้นสูงสุดที่สามารถควบคุมตนเองและสภาวะต่างๆ ที่กระทบเข้ามาสู่ชีวิตได้อย่างดีเยี่ยม

      การพัฒนาปัญญาตามหลักไตรสิกขาที่เชื่องโยงกับอริยมรรค ๘ พบว่าปัญญาตามแนวพุทธจริยศาสตร์เกิดขึ้นจากกระบวนการพัฒนา ๓ ระดับด้วยกัน คือ สุตมยปัญญา จินตามยปัญญา และ ภาวนามยปัญญา ปัญญาระดับภาวนามยปัญญาถือว่าเป็นปัญญาขั้นสูงสุด เพราะเป็นวิธีที่สร้างสรรค์ปัญญาขึ้นมาได้ด้วยตนเอง โดยผ่านกระบวนการลงมือปฏิบัติ จนกระทั่งเกิดประจักษ์แจ้งแห่งเหตุของปัญหาและสามารถแก้ปัญหานั้นได้เสร็จสิ้นด้วยตนเองการที่จะปฏิบัติจนบรรลุถึงปัญญาขั้นสูงสุดนี้ได้ ต้องอาศัยหลักไตรสิกขาที่ผ่านการเชื่อมโยงกับหลักอริยมรรค ๘ นั่นคือการนำเอาหลักอริยมรรค ๘ มาจัดเป็นแนวปฏิบัติให้เหลือเพียง ๓ หมวด คือ หมวดแห่งศีลสิกขา หมวดแห่งสมาธิสิกขา และหมวดแห่งปัญญาสิกขา ฉะนั้นการนำหลักไตรสิกขามาปฏิบัติอย่างเป็นกระบวนการ จึงทำให้ได้ศึกษาหรือปฏิบัติตามหลักอริยมรรค ๘ ไปด้วย ในทางพุทธจริยศาสตร์ถือว่าเป็นการพัฒนาปัญญาแบบครบวงจร นั่นคือการปฏิบัติตามหลักมัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลาง โดยเบื้องต้นให้ผู้ปฏิบัติมีความคิดเห็นที่ถูกต้องเสียก่อน แล้วค่อยเพียรสร้างปัญญาในทางโลก (โลกิยปัญญา) จากนั้นจึงค่อยพัฒนาปัญญาในระดับสูงขึ้นต่อไปจนบรรลุถึงปัญญาขั้นสูงสุด (โลกุตรปัญญา)หรือ นิพพาน

       ผลการพัฒนาปัญญาของสำนักปฏิบัติธรรมวัดโพธิ์บ้านโนนทัน พบว่า สำนักนี้ได้ใช้หลักสติปัฏฐาน ๔ เป็นแนวทางในการพัฒนาปัญญาทั้งพระภิกษุและประชาชนทั่วไป โดยเน้นให้พิจารณาทำความเข้าใจในเรื่องของกาย เวทนา จิต ธรรม ผลของการนำหลักสติปัฏฐาน ๔ ไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ทำให้รู้เท่าทันสภาวะของอารมณ์กับสิ่งภายนอกที่มากระทบจิตได้ดีขึ้น ทำให้รู้เข้าใจสภาวะของความเป็นจริงในชีวิตมากขึ้น การยึดติดแบบโลกๆ ทั่วไปก็ลดน้อยลง ทำให้หันมาศึกษาเรียนรู้ตัวเองมากขึ้น ทำให้การใช้ชีวิตอยู่ในสังคมแห่งการเปลี่ยนแปลงได้ดีขึ้น ทำให้ไม่กระวนกระวายใจรู้เท่าทันสภาวะของจิตใจของตน โดยไม่ไห้ตกเป็นทาสสิ่งที่ยั่วยวนใจอันจะนำไปสู่ความเสื่อมในชีวิต ทำให้รู้ว่าสิ่งไหนควรทำ สิ่งไหนไม่ควร สิ่งไหนผิด สิ่งไหนถูก รู้จักหลีกเลี่ยงทางแห่งความเสื่อม และปฏิบัติตนให้อยู่แต่ในสิ่งที่เป็นกุศลธรรม

Article Details

Section
บทความวิจัย (Research Article)