รูปแบบการพัฒนาจิตสาธารณะเชิงพุทธบูรณาการสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต ๓

Main Article Content

ไพโรจน์ อักษรเสือ

Abstract

        การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ๑) ศึกษาหลักการแนวคิด และองค์ประกอบจิตสาธารณะในปัจจุบัน ๒) ศึกษาบริบทและวิธีการจัดกิจกรรมเชิงจิตสาธารณะในสถานศึกษา และ ๓) สร้างและประเมินรูปแบบการพัฒนาจิตสาธารณะเชิงพุทธบูรณาการของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต ๓ โดยการวิจัยแบบผสมวิธี (Mixed Methods Research) แบบลำดับเวลา (Sequential Mixed Method Research) โดยใช้ลักษณะของการออกแบบการสำรวจ (Exploratory Sequential Design) แบ่งเป็น ๓ ระยะ โดยระยะที่ ๑ การวิจัยเชิงคุณภาพโดยการวิจัยเอกสาร(Documentary Research) พหุกรณีศึกษา และการสัมภาษณ์ ระยะที่ ๒ การวิจัยเชิงปริมาณเพื่อสร้าง ทดลองใช้รูปแบบ และระยะที่ ๓ การประเมินรูปแบบการพัฒนาจิตสาธารณะเชิงบูรณาการสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น

           ผลการวิจัยพบว่า

        ๑. หลักการแนวคิด และองค์ประกอบจิตสาธารณะในโลกปัจจุบัน พบว่า หลักการและแนวคิดในการเสริมสร้างจิตสาธารณะของคนไม่ว่าจะเป็นในสถานศึกษา หรือในสังคมว่าจะต้องเกิดขึ้นได้จากการคลุกคลีอยู่กับความถูกต้อง การปลูกฝัง อบรมการฝึกปฏิบัติการได้เห็นตัวอย่างที่ชวนให้ประทับใจ ปัจจัยเหล่านี้จะค่อยๆโน้มนำใจของบุคคลให้เกิดจิตสำนึกที่ถูกต้องและการสร้างจิตสาธารณะให้เกิดขึ้นจำต้องอาศัยสถาบันทางสังคมหลายส่วนเข้ามาร่วมมือกันเริ่มจากการสร้างความตระหนัก การวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์ปัญหาในสังคม การสร้างความรักเอื้ออาทรต่อกัน การรับรู้เข้าใจในศักยภาพตนเอง การร่วมมือกัน และการมีเครือข่ายร่วมมือในการแก้ปัญหาต่างๆ ร่วมกัน

        ๒. บริบทและวิธีการจัดกิจกรรมเชิงจิตสาธารณะในสถานศึกษาพบว่า การพัฒนาจิตสาธารณะเน้นการใช้กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเป็นหลักโดยครูผู้รับผิดชอบในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ร่วมกันวิเคราะห์และสร้างเป็นหลักสูตรเฉพาะของโรงเรียนและมีคู่มือในการจัดกิจกรรมพัฒนาจิตสาธารณะโดยตรงมีการวัดและประเมินผลทุกภาคเรียน แล้วนำผลในแต่ละภาคเรียนสรุปผลการประเมินแต่ละปี ในการจัดกิจกรรมนั้นเน้นที่กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังได้จัดทำเป็นโครงการ/กิจกรรม และสอดแทรกในกลุ่มสาระการเรียนรู้ทุกกลุ่มสาระโดยครูผู้สอนเป็นผู้รับผิดชอบเป็นผู้ประเมินร่วมกับผู้ปกครองนักเรียนหลังสิ้นปีการศึกษาสรุปผล เพื่อนำไปรวมกับผลการประเมินในกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

        ๓. รูปแบบการพัฒนาจิตสาธารณะเชิงพุทธบูรณามี ๖ ขั้นตอน คือ การเตรียมการ (Preparation) การประเมินก่อนดำเนินการ (Assessment) การพัฒนา (Treatment) การฝึกปฏิบัติ (Practice) การประเมินผลหลังดำเนินการ (Evaluation) และการวิเคราะห์ผลการดำเนินงาน (Feedback) ผลการทดลองใช้และประเมินรูปแบบพบว่า ๑) ประสิทธิภาพของชุดฝึกจิตสาธารณะมีค่าประสิทธิภาพของกระบวนการเท่ากับ ๘๑.๐๒ และประสิทธิภาพของผลลัพธ์เท่ากับ ๘๓.๙๔ แสดงว่า ประสิทธิภาพของชุดฝึกจิตสาธารณะเชิงพุทธบูรณาการของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น ช่วยในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนักเรียนด้านกระบวนการและผลลัพธ์ได้เท่ากับร้อยละ ๘๑.๐๒ และ ๘๓.๙๔ ตามลำดับ ๒) ดัชนีประสิทธิผลของชุดฝึกจิตสาธารณะเชิงพุทธบูรณาการของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น มีค่าเท่ากับ ๐.๕๑ แสดงว่านักเรียนมีคะแนนจิตสาธารณะเพิ่มขึ้นร้อยละ ๕๑.๐๒ และ ๓) นักเรียนมีคะแนนจิตสาธารณะเชิงพุทธบูรณาการหลังใช้ชุดฝึกสูงขึ้นกว่าก่อนใช้ชุดฝึกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๑

Article Details

Section
บทความวิจัย (Research Article)