การบริหารกิจกรรมลูกเสือตามหลักสังคหวัตถุ ๔ ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอำเภอชุมแพ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต ๕

Main Article Content

ชัยยงค์ อรรคพงษ์

Abstract

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาเปรียบเทียบสภาพและแนวทางการพัฒนาการบริหารกิจกรรมลูกเสือตามหลักสังคหวัตถุ ๔ ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำแนกตามตำแหน่งหน้าที่ วุฒิทางลูกเสือ และประสบการณ์ทางลูกเสือ และเพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาการบริหารกิจกรรมลูกเสือตามหลักสังคหวัตถุ ๔ ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน อำเภอชุมแพ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต ๕ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน ๕๗ คน และครูผู้สอน จำนวน ๒๓๒ คน รวมทั้งสิ้น ๒๘๙ คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ .๙๕ สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบสมมติฐานโดย การทดสอบที (t-test แบบ Independent) และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (F-test แบบ One-Way ANOVA) เมื่อพบความแตกต่างจะทดสอบความแตกต่างเป็นรายคู่โดยวิธีของเชฟเฟ่ (Scheffe′ method)

ผลการวิจัยพบว่า

สภาพการบริหารกิจกรรมลูกเสือตามหลักสังคหวัตถุ ๔ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอำเภอชุมแพ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต ๕ โดยภาพรวม และรายด้านมีการปฏิบัติในระดับมาก ด้านที่มีค่าเฉลี่ยการปฏิบัติสูงสุด คือ ด้านการบริหารจัดการ รองลงมา คือ ด้านการบริหารบุคลากร และด้านสื่อและวัสดุอุปกรณ์ ส่วนด้านที่มีค่าเฉลี่ยการปฏิบัติต่ำสุด คือ ด้านการนิเทศติดตามผล และด้านการวัดผลและประเมินผล การเปรียบเทียบสภาพการบริหารกิจกรรมลูกเสือตามหลักสังคหวัตถุ ๔ ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน อำเภอชุมแพสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต ๕ จำแนกตามตำแหน่งหน้าที่ โดยภาพรวม มีการปฏิบัติแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ ระดับ .๐๕ โดยผู้บริหารสถานศึกษามีการปฏิบัติมากกว่าครูผู้สอนลูกเสือ และเมื่อจำแนกตามวุฒิทางลูกเสือ และประสบการณ์ทางลูกเสือ โดยภาพรวมมีการปฏิบัติไม่แตกต่างกัน

แนวทางในการพัฒนาการบริหารกิจกรรมลูกเสือตามหลักสังคหวัตถุ ๔ ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอำเภอชุมแพ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต ๕ ที่สำคัญ คือบุคลากรควรปฏิบัติหน้าที่ในการจัดกิจกรรมลูกเสือโดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม และดูแลเอาใจใส่ในการจัดกิจกรรมทางลูกเสือ บุคลากรควรปฏิบัติงานโดยร่วมกันทำงานตามหน้าที่ที่ตนรับผิดชอบได้ดีที่สุด มีการจัดเตรียมสื่อ และวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสม สถานศึกษาควรมีการสื่อสารกันด้วยถ้อยคำที่ดี มีการวัดและประเมินผลผลการปฏิบัติกิจกรรมด้วยวิธีการหลากหลายตามสภาพจริง

Article Details

Section
บทความวิจัย (Research Article)