การศึกษาทางร้องเพลงแขกมอญบางขุนพรหม เถา ของ ครูอุษา สุคันธมาลัย

ผู้แต่ง

  • รุจี ศรีสมบัติ

คำสำคัญ:

เพลงไทย, ขับร้อง, การเอื้อน

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาทางร้องเพลง “แขกมอญบางขุนพรหม เถา” ของ ครูอุษา สุคันธมาลัย รวมถึงประวัติครูอุษา สุคันธมาลัย โดยมีวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล จากเอกสาร ตำราวิชาการร่วมกับการสัมภาษณ์ศิษย์และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ด้านการศึกษาทางร้องเพลงแขกมอญบางขุนพรหม เถา ของครูอุษา สุคันธมาลัย จะใช้การศึกษาจากเทปบันทึกเสียงโดยใช้ทฤษฏีการวิเคราะห์เพลงไทยเป็นแนวทางในการวิเคราะห์ ได้ผลการวิจัยดังนี้
ด้านชีวประวัติครูอุษา สุคันธมาลัย มีนามเดิมว่า ทัพ หรือ ทับ ด้วยเสียงที่ไพเราะของครูทำให้ครูได้รับฉายาที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า “แม่ทับเสียงทอง” ครูเกิดเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2444 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นธิดาของจางวางสุดและนางเทียบ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม 7 คน เมื่อบิดาและมารดา ถึงแก่กรรม ครูอุษาจึงถวายตัวอยู่ในพระอุปถัมภ์ของพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินินาฎ ได้เรียนขับร้องเพลงไทยทั้งจากบิดาและจากครูเพลงที่ในวัง ในปี พ.ศ. 2453 และได้สมรสกับหลวงประมาณมนูธรรม (เหมือน บุณยรัตพันธุ์) โดยมีบุตรธิดาทั้งหมด 4 คน และครูได้ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2528 สำหรับด้านศึกษาทางร้องเพลงแขกมอญบางขุนพรหม เถา ซึ่งขับร้องโดยครูอุษา สุคันธมาลัย นั้นพบว่า 1.คีตลักษณ์ (Form) เป็นบทเพลง 3 ท่อน เป็นลักษณะ ตรีบท (Ternary Form) แบ่งเป็นประโยค(sentence) ได้ 23 ประโยค และวลี (Phrase)ซึ่งจัดเป็นกลุ่มคำร้องได้ทั้งหมด 59 คำร้อง 2.บันไดเสียง (Scale) ใช้ลักษณะของโหมด (Mode) มาประพันธ์โดยใช้เสียงกลุ่มเสียงของตัวโน้ต ทั้ง 7 เสียงซึ่งกลุ่มโน้ตในโหมดตรงกับ G Dorian mode 3.คำร้องมีลักษณะการใช้ 3 แบบคือใช้การผันเสียงเพื่อให้ตรงตามเสียงวรรณยุกต์, ใช้การกระทบคำโดยออกเสียงคำร้องคำเดียว แต่ใช้เสียงของโน้ตหลายเสียง, ใช้เสียงปริบเป็นการเอื้อนสั้นๆในบทเพลง 2 ลักษณะคือ ตามหลังคำร้องและอยู่ระหว่างทำนองร้อง 4.การเอื้อนมี 5 ลักษณะได้แก่ 4.1) เอื้อนท้ายคำเป็นการเอื้อนที่ต่อจากเสียงของคำร้อง เพื่อให้เสียงสุดท้ายของเอื้อนนี้ตรงกับเสียงตก 4.2.) การเอื้อนระหว่างคำใช้กลุ่มของตัวโน้ตหรือโน้ตพยางค์สั้นในการเอื้อนเพื่อเชื่อมระหว่างคำร้อง 4.3) การเอื้อนอิสระ เป็นการประดิษฐ์ทำนองเอื้อนขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับทำนองเพลงและหน้าทับและ 4.4) การเอื้อนกระทบเสียง เป็นเสียงเอื้อนต่อจากคำร้องหรือทำนองเป็นการลากเสียงยาวมาสัมผัสเสียงสั้น และกลับมาเสียงเดิม 4.5) การเอื้อนที่ใช้เทคนิคลักษณะพิเศษของครูอุษา สุคันธมาลัย คือการเอื้อนผ่านเสียงโดยใช้เสียงของโน้ต 7 ตัวหรือโน้ต 7 พยางค์เป็นตัวเชื่อมระหว่างเสียงของตัวโน้ตเสียงเดียวกันโดยที่เสียงของตัวโน้ตอยู่คนละห้องเพลงเพื่อหลีกเลี่ยงการลากเสียงของการเอื้อนเสียงยาวๆ
การนำวิธีการขับร้องเพลงไทย การออกเสียงคำร้อง และการเอื้อนลักษณะต่างๆของครูอุษา สุคันธมาลัย มาเป็นแนวทางในการเรียนการสอนวิชาการขับร้องเพลงไทยนั้น ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ มีประสบการณ์และสามารถพัฒนาการขับร้องเพลงไทยได้ดียิ่งขึ้น

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2017-12-15