บทบาทของสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยขอนแก่นในการสนองความต้องการสารสนเทศของนักวิจัย

Authors

  • ภรณี ศิริโชติ
  • วราภรณ์ จันทคัต

Abstract

บทคัดย่อ
การวิจัยเชิงสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพการใช้สารสนเทศและปัญหาการใช้สารสนเทศของนักวิจัย 2) ศึกษาบทบาทของสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการสนองความต้องการสารสนเทศของนักวิจัย การดำเนินการวิจัยแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนแรกเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลจากนักวิจัยประจำศูนย์วิจัยเฉพาะทางของมหาวิทยาลัยขอนแก่นทั้ง 21 แห่ง จำนวนทั้งสิ้น 304 คน เครื่องมือที่ใช้คือแบบสอบถาม สถิติที่ใช้คือ ค่าความถี่และร้อยละ ขั้นตอนที่สองเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ผู้อำนวยการ หัวหน้ากลุ่มภารกิจ และบรรณารักษ์ประจำห้องสมุดคณะที่สังกัดสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จำนวนทั้งสิ้น 12 คน โดยใช้เครื่องมือคือแบบสัมภาษณ์ และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ ผลการวิจัยด้านสภาพการใช้สารสนเทศของนักวิจัยพบว่า นักวิจัยส่วนใหญ่ใช้วารสารอิเล็กทรอนิกส์ และใช้สารสนเทศที่เป็นภาษาอังกฤษ  นักวิจัยส่วนใหญ่ใช้สารสนเทศที่มีอายุ 6 เดือนที่ผ่านมา และใช้สารสนเทศที่มีเนื้อหาฉบับเต็มมากที่สุด    บริการของสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ นักวิจัยส่วนใหญ่เคยใช้คือบริการสารสนเทศเพื่อการอ้างอิงและการวิจัย  เครื่องมือสืบค้นสารสนเทศที่นักวิจัยส่วนใหญ่ใช้ได้แก่ Search Engine เช่น Google Scholar และ Scirus   นักวิจัยใช้ระยะเวลาในการสืบค้นสารสนเทศตั้งแต่ 2 ชั่วโมงขึ้นไป ด้านปัญหาการใช้สารสนเทศพบว่า นักวิจัยส่วนใหญ่ประสบปัญหาทรัพยากรสารสนเทศไม่เพียงพอ และไม่ทันสมัยทั้งในส่วนของหอสมุดกลางและห้องสมุดคณะ ด้านบทบาทของสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการสนองความต้องการสารสนเทศของนักวิจัยพบว่า นักวิจัยส่วนใหญ่ ต้องการใช้ทรัพยากรสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ และต้องการให้ห้องสมุดปรับปรุงระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนผู้บริหารและบรรณารักษ์ของสำนักวิทยบริการมหาวิทยาลัยขอนแก่นเห็นว่า ห้องสมุดควรมีบทบาทในการสนองความต้องการสารสนเทศของนักวิจัยใน 3 ด้าน คือ 1) บทบาทด้านทรัพยากรสารสนเทศ ห้องสมุดต้องมุ่งเน้นการจัดหาทรัพยากรสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาและจัดการเนื้อหาทรัพยากรสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ 2) บทบาทด้านการบริการสารสนเทศและผู้ให้บริการสารสนเทศ ห้องสมุดต้องมุ่งเน้นบริการเชิงรุก โดยให้บริการนำส่งสารสนเทศที่ผู้ใช้ร้องขอได้ทันที  บริการที่สำคัญที่จะสนองความต้องการของนักวิจัย คือ บริการยืมระหว่างห้องสมุด  บริการจัดส่งเอกสาร และบริการตรวจสอบการเขียนบรรณานุกรมและการอ้างอิง   ห้องสมุดต้องพัฒนาทักษะผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศใหม่ๆ  พัฒนาความรู้ในสาขาวิชาที่บรรณารักษ์รับผิดชอบให้บริการ  พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ และทักษะการทำวิจัย  3) บทบาทด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ  คือการปรับปรุงและติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานทางสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

How to Cite

ศิริโชติ ภ., & จันทคัต ว. (2013). บทบาทของสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยขอนแก่นในการสนองความต้องการสารสนเทศของนักวิจัย. Journal of Information Science Research and Practice, 30(2). Retrieved from https://so03.tci-thaijo.org/index.php/jiskku/article/view/6432

Issue

Section

Research Article