ภาพสะท้อนทางความคิดต่อการเจ็บป่วยในผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวที่มีอาการกำเริบ Illness Representation Among Patients with Acute Exacerbation Heart Failure

ผู้แต่ง

  • พลอยลดา ศรีหานู
  • อัมพรพรรณ ธีรานุตร

คำสำคัญ:

ภาพสะท้อนทางความคิด ผู้ป่วยหัวใจล้มเหลว อาการกำเริบ

บทคัดย่อ

การศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงบรรยาย  (Descriptive research) มีวัตถุประสงค์ เพื่อทราบถึงภาพสะท้อนทางความคิดต่อการเจ็บป่วยในผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวที่มีอาการกำเริบ กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวที่มีอาการกำเริบ จำนวน  45 ราย ในหอผู้ป่วยอายุศาสตร์หัวใจ ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และหอผู้ป่วยอายุรกรรม โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ทำการศึกษาตั้งแต่เดือน มีนาคม ถึง เดือน มิถุนายน พ.ศ.  2560  เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือแบบสอบถามภาพสะท้อนทางความคิดต่อการเจ็บป่วยในผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวที่มีอาการกำเริบ โดยได้นำแบบสอบถามการประเมินการรับรู้ความเจ็บป่วยฉบับปรับปรุง (Illness Perception Questionnaire-Revise, IPQ-R) มาแปลเป็นภาษาไทยโดยผ่านกระบวนการแปลย้อนกลับ (Back translation) และปรับปรุงเพื่อให้มีความสอดคล้องต่อการเก็บข้อมูลผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวที่มีอาการกำเริบเพิ่มขึ้น มีการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่านและหาค่าความเที่ยงโดยใช้ค่าสัมประสิทธิ์อัลฟาของครอลนบาคของเครื่องมือ เท่ากับ 0.89 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา โดยการแจกแจง ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน

ผลการวิจัยพบว่า ภาพของคุณลักษณะของโรคหรือการเจ็บป่วย (Identity) การเกิดอาการกำเริบของผู้ป่วยหัวใจ

ล้มเหลวมีลักษณะเฉพาะ  คือ หายใจลำบากในเวลากลางคืน  (x ̄= 4.64 , S.D. = 0.57) ภาพของสาเหตุของโรคหรือการเจ็บป่วย (Cause) ผู้ป่วยมีการรับรู้ว่า เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงที่มีผลต่อสุขภาพ คือ การไม่ควบคุมเกลือ (x ̄= 4.62, S.D. = 0.58) ภาพของการเจ็บป่วยที่เกี่ยวเนื่องกับระยะเวลา (Time-line) คือ การเจ็บป่วยจะคงอยู่ช่วงเวลาสั้นๆ (x ̄= 4.02, S.D. = 0.54)  และอาการของการเจ็บป่วยเปลี่ยนแปลงมากมายแบบวันต่อวัน (x ̄= 4.89, S.D. = 0.49)  ภาพของความสามารถที่จะควบคุมหรือรักษาการเจ็บป่วยได้ (Cure/ Controllability)  ตามความสามารถการควบคุมโรคโดยบุคคล (Personal Control)  คือ  ไม่มีอะไรที่ทำที่จะส่งผลกระทบต่อการเจ็บป่วย (x ̄= 3.82, S.D. = 0.58) การรับรู้ภาพของความสามารถที่จะควบคุมหรือรักษาการเจ็บป่วยตามความสามารถการควบคุมโรคโดยการรักษา (Treatment Control)  คือ การรักษาสามารถควบคุมการเจ็บป่วย (x ̄= 3.96, S.D. = 0.31)  ภาพของผลที่เกิดตามมาภายหลังการเจ็บป่วย (Consequences) ผู้ป่วยมีการรับรู้ว่าการเจ็บป่วยมีผลกระทบหลักๆต่อชีวิต (x ̄= 3.96 , S.D. = 0.41) และภาพของการตอบสนองทางอารมณ์ต่อการเจ็บป่วย (Emotional) ผู้ป่วยมีการรับรู้ว่า การเจ็บป่วย ไม่ได้ทำให้รู้สึกวิตกกังวล (x ̄= 3.53, S.D. = 0.44) ผลการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า พยาบาลควรตระหนักรวมถึงความเข้าใจการรับรู้ภาพสะท้อนทางความคิดของการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นของผู้ป่วยเอง โดยมีการประเมินภาพสะท้อนทางความคิดของการเจ็บป่วยเป็นระยะๆ ตลอดช่วงของการมารับการรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยให้พยาบาลเข้าใจการปฏิบัติตามแผนการรักษา การดูแลตนเอง การจัดการตนเองของผู้ป่วยมากขึ้น สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการวางแผนให้การพยาบาลผู้ป่วยได้เพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยปรับตัวได้อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของผู้ป่วย และพัฒนาคุณภาพการพยาบาลให้ดียิ่งขึ้น

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-10-14