ผลของโปรแกรมพัฒนาการรับรู้ความสามารถของผู้ดูแลต่อพฤติกรรมการดูแล และอัตราการกลับมารักษาซ้ำด้วยโรคปอดอักเสบ ในเด็ก 0-5 ปี The Effects of Perceived Self-efficacy Development Program among Caregivers on Caring Behavior and Pneumonia Re-admission Rate in Children Under 5 Year of Age

ผู้แต่ง

  • ปิยฉัตร ปะกังลำภู
  • เสาวมาศ คุณล้าน เถื่อนนาดี

คำสำคัญ:

โปรแกรมพัฒนาการรับรู้ความสามารถของผู้ดูแล เด็กโรคปอดอักเสบ พฤติกรรมการดูแล อัตราการกลับมา รักษาซ้ำ

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมพัฒนาการรับรู้ความสามารถของผู้ดูแลต่อพฤติกรรมการดูแลและอัตราการกลับมารักษาซ้ำด้วยโรคปอดอักเสบ ในเด็ก 0-5 ปี กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ดูแลเด็กและเด็กป่วยโรคปอดอักเสบอายุ 0-5 ปี เข้ารับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยใน โรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น ระหว่างเดือนมกราคม ถึง เดือนเมษายน พ.ศ. 2560 ผู้วิจัยเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบสะดวก จำนวน 30 ราย โดย 15 รายแรกเป็นกลุ่มควบคุม และ 15 รายหลัง เป็นกลุ่มทดลองที่ได้รับโปรแกรมพัฒนาการรับรู้ความสามารถของผู้ดูแล เพื่อป้องกันการกลับมารักษาซ้ำด้วยโรคปอดอักเสบ ในเด็ก 0-5 ปี โดยใช้ทฤษฎีความสามารถของตนเองของแบนดูราเป็นกรอบแนวคิด ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน โดยใช้เวลาผ่านโปรแกรม 3 วัน  เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบประเมินการรับรู้ความสามารถและพฤติกรรมในการดูแลเด็กโรคปอดอักเสบของผู้ดูแล ตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือโดยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 5 ท่าน แบบประเมินประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนที่1 แบบสัมภาษณ์ข้อมูลทั่วไป ส่วนที่2 แบบประเมินพฤติกรรมในการดูแลเด็กโรคปอดอักเสบของผู้ดูแล   ( CVI  =  0.8 , ความเที่ยง = 0.92 )  ส่วนที่3 แบบสัมภาษณ์การกลับมารักษาซ้ำด้วยโรคปอดอักเสบทางโทรศัพท์  วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ Chi-square test ,  Independent t-test , Mann-Whitney U test  และ Fisher's exact test

ผลการวิจัย พบว่า 1) ผู้ดูแลเด็กโรคปอดอักเสบ กลุ่มทดลอง มีคะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมในการดูแลเด็กโรคปอดอักเสบ และคะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมรายด้าน ได้แก่ ด้านการป้องกันโรคปอดอักเสบ ด้านการดูแลเมื่อเด็กมีไข้  ด้านการดูแลเมื่อเด็กมีน้ำมูก ด้านการดูแลเมื่อเด็กมีอาการไอ  ด้านการนับอัตราการหายใจ และการดูแลเมื่อเด็กมีอาการหายใจเหนื่อยหอบ สูงกว่ากลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  2) อัตราการกลับมารักษาซ้ำด้วยโรคปอดอักเสบ ในกลุ่มทดลอง และกลุ่มควบคุม ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ผู้ดูแลเด็กที่ผ่านโปรแกรมพัฒนาการรับรู้ความสามารถของผู้ดูแล เพื่อป้องกันการกลับมารักษาซ้ำด้วยโรคปอดอักเสบ ในเด็ก 0-5 ปี มีพฤติกรรมในการดูแลเด็กโรคปอดอักเสบดีขึ้น

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-10-14