พฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยกับประสบการณ์ปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ในคู่สมรสที่ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ Unsafe Sexual Behavior at Risk of HIV Transmission and Denial Experiences of Unsafe Sexual Intercourse with Their Sex Partner among People Living with HIV/AIDS

ผู้แต่ง

  • จารุวรรณ ก้าวหน้าไกล
  • ดรุณี รุจกรกานต์

บทคัดย่อ

รายงานนี้เป็นระยะที่ 1 ของการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนารูปแบบการปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยในคู่สมรส/คู่นอน ที่ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ระยะนี้ใช้วิธีวิจัยแบบผสมผสานทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพเพื่อศึกษาพฤติกรรมทางเพศที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อไปยังคู่นอนหรือคู่สมรสร่วมกับศึกษาประสบการณ์การปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ผลการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างจำนวน 81 ราย เป็นหญิง 50 ราย (ร้อยละ 61.7) ชาย 31 ราย (ร้อยละ 38.3) พบว่า ในผู้ติดเชื้อหญิงมากกว่า 1ใน 3 ยอมมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนทั้งที่ติดเชื้อและไม่ติดเชื้อโดยไม่สวมถุงยางอนามัย ผู้หญิงร้อยละ 10 เคยถูกคู่นอนหรือสามีเคยใช้กำลังบังคับ ทำร้ายร่างกาย รวมถึง การใช้คำพูดข่มขู่ คุกคาม หรือคำพูดที่ทำให้ไม่สบายใจ เพื่อบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยด้วย ผู้หญิงร้อยละ 34 ยอมรับว่าตนเองมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยโดยไม่สามารถป้องกันตนเองได้ และร้อยละ 62  คิดว่าการปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนจะมีผลเสียมากกว่าผลดี  ส่วนในกลุ่มตัวอย่างชาย พบว่า ร้อยละ 45 ยังมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนหรือภรรยาที่ปฏิเสธการสวมถุงยางอนามัยของตน  ร้อยละ 3 เคยใช้คำพูดข่มขู่ คุกคาม หรือคำพูดที่ทำให้ไม่สบายใจ  เพื่อบังคับให้สตรีมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยด้วย ส่วนวิธีที่กลุ่มตัวอย่างหญิงใช้ในการปฏิเสธ ได้แก่  การปฏิเสธด้วยวาจา   การให้เหตุผลทางการแพทย์  เหตุผลทางสุขภาพ   ปฏิเสธด้วยการโกหก  การหลีกเลี่ยงโดยการใช้วิธีอื่นช่วยให้สามีถึงจุดสุดยอด  ผลการปฏิเสธพบว่าร้อยละ 68   ของผู้หญิงปฏิเสธสำเร็จ

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-12-27