การพัฒนารูปแบบการจัดการรายกรณีในผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันชนิดเอสทียก ที่ได้รับยาละลายลิ่มเลือด Development of Case management Model with ST-segment Elevation Myocardial Infarction receiving Thrombolytic drugs

ผู้แต่ง

  • คนึงนิจ ศรีษะโคตร
  • สุรัตน์ ทิพย์วัฒน์

คำสำคัญ:

การจัดการรายกรณี โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันชนิดเอสทียก ยาละลายลิ่มเลือด

บทคัดย่อ

             การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์  พัฒนาและศึกษาผลลัพธ์รูปแบบการจัดการรายกรณีในผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันชนิดเอสทียกที่ได้รับยาละลายลิ่มเลือดในโรงพยาบาลมหาสารคาม โดยเลือกผู้ร่วมวิจัยแบบเจาะจง ได้แก่ พยาบาลงานผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน และหอผู้ป่วยหนักอายุรกรรม   จำนวน 34 คน  และผู้ป่วย กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันชนิดเอสทียกที่ได้รับยาละลายลิ่มเลือด จำนวน 57 รายโดยกำหนดคุณสมบัติเพิ่มเติม การวิจัยมี 2 วงรอบๆ ละ 4 ขั้นตอน ได้แก่ การวางแผน  การปฏิบัติตามแผน การสังเกต และการสะท้อนผล โดยเน้นการมีส่วนร่วมของผู้ร่วมวิจัยในทุกขั้นตอน เก็บข้อมูลทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณโดยใช้แบบสนทนากลุ่ม  การสัมภาษณ์เชิงลึก การประชุมระดมสมอง  ประชุมเชิงปฏิบัติการ การสังเกต  แบบประเมินและแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยใช้การวิเคราะห์เชิงเนื้อหา ข้อมูลเชิงปริมาณ โดยใช้การวิเคราะห์จำนวน และค่าร้อยละ

จากการวิเคราะห์สถานการณ์  พบว่ามีปัญหาที่ต้องพัฒนา 4  ด้าน ได้แก่ 1) ด้านแผนการดูแลผู้ป่วย  แนวปฏิบัติยังไม่ครอบคลุมทุกขั้นตอน 2) ด้านการประสานงานทีมสหสาขาวิชาชีพ  ขาดผู้ประสานงานในการเชื่อมโยงแนวทางปฏิบัติระหว่างสหสาขาวิชาชีพ   3) ด้านระบบ บริการไม่มีการคัดแยกผู้ป่วยตั้งแต่ต้น  การให้ข้อมูลประกอบตัดสินใจให้ยา SK ต้องรอทำให้เกิดความล่าช้า  4) ด้านการติดตามควบคุมกำกับ ระบบยังไม่ชัดเจนเป็นเพียงการติดตามผลลัพธ์ตัวชี้วัดเท่านั้น   ผู้วิจัยและผู้ร่วมวิจัยจึงร่วมกันพัฒนารูปแบบการจัดการรายกรณีในผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันชนิดเอสทียกที่ได้รับยาละลายลิ่มเลือด  ดังนี้ 1 ) พัฒนาพยาบาลผู้จัดการรายกรณี  2) จัดทำคู่มือกำหนดบทบาทผู้จัดการรายกรณี 3) จัดทำแนวปฏิบัติ ได้แก่ การพยาบาลการเฝ้าระวังและการพยาบาลเมื่อมีอาการเจ็บหน้าอก  แนวทางการคัดแยกผู้ป่วยเบื้องต้น   แนวทางการประสานโรงพยาบาลชุมชนเพื่อเตรียมความพร้อมของญาติก่อนส่งผู้ป่วยมารักษาที่โรงพยาบาลมหาสารคาม  5) จัดทำแบบประเมินการปฏิบัติ2 ชุด ได้แก่ แบบประเมินการปฏิบัติตามแนวทางการดูแลผู้ป่วย STEMI ที่ได้รับยา SK และแบบประเมินการปฏิบัติตามบทบาทผู้จัดการรายกรณี  6 ) การควบคุมกำกับระบบ โดยการสังเกต  การประเมินผล และจัดประชุมติดตามผลลัพธ์

                ผลการวิจัยพัฒนารูปแบบการจัดการรายกรณี  พบว่ามีการเปลี่ยนแปลง 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการพยาบาล การประเมินการปฏิบัติของพยาบาลผู้จัดการรายกรณี  ครั้งที่ 1 จำนวน 2 คน การปฏิบัติบทบาทพยาบาลผู้จัดการรายกรณี 10 ด้าน ถูกต้องและครบถ้วน ร้อยละ 92.0  และครั้งที่ 2 จำนวน 9 คน ร้อยละ 98.8   การประเมินการปฏิบัติตามแนวทางการดูแลผู้ป่วย STEMI ที่ได้รับยา SK ของพยาบาลงานผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน  และหอผู้ป่วยหนักอายุรกรรม  พบ มีการปฏิบัติได้ถูกต้องและครบถ้วนทุกด้าน ร้อยละ 86.25  2) ด้านระบบบริการ พบความพึงพอใจของพยาบาลวิชาชีพต่อรูปแบบการจัดการรายกรณีที่พัฒนาขึ้น  ร้อยละ 91.8  ความพึงพอใจของสหสาขาวิชาชีพต่อรูปแบบการจัดการรายกรณีที่พัฒนาขึ้น ร้อยละ 90.00 และความพึงพอใจของผู้ป่วยหรือผู้ดูแลต่อรูปแบบการจัดการรายกรณีที่พัฒนาขึ้น ร้อยละ 92.1 3) ด้านคลินิก  พบผลลัพธ์ด้านคุณภาพการรักษาพยาบาลที่เกิดจากการดูแลโดยใช้รูปแบบการจัดการรายกรณี จำนวน 9 ตัว บรรลุเป้าหมายทั้งหมดภายหลังการขยายผลการนำรูปแบบการจัดการรายกรณีไปใช้กับการดูแลผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันชนิดเอสทียกที่ได้รับยาละลายลิ่มเลือดในเครือข่ายโรงพยาบาลชุมชนในปีต่อมา พบว่า รูปแบบที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพและสามารถเพิ่มคุณภาพการดูแลผู้ป่วยได้

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-12-27