การพัฒนาแนวทางการดูแลกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน กรณีศึกษาชุมชนแห่งหนึ่ง จังหวัดพิจิตร

ผู้แต่ง

  • อรุณี ผุยปุ้ย
  • วันเพ็ญ ปัณราช

คำสำคัญ:

คำสำคัญ การดูแลตนเองกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 การมีส่วนร่วมของชุมชน

บทคัดย่อ

การศึกษานี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแนวทางการดูแลกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง จังหวัดพิจิตรโดยใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการ เก็บรวบรวมข้อมูลจาก 1) กลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 2) สมาชิกในครอบครัวของกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 3) ผู้นำชุมชน 4) เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล 5) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และ 6) ผู้ให้บริการสุขภาพ รวมทั้งหมด จำนวน 70 คน การศึกษาวิจัยแบ่งเป็น 3 ระยะ การวิจัยระยะที่ 1 เป็นระยะการวิเคราะห์สถานการณ์การดูแลตนเองของกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เก็บรวบรวมข้อมูลโดย การประเมินความรู้และสัมภาษณ์พฤติกรรมการดูแลตนเอง การสัมภาษณ์เชิงลึก การสนทนากลุ่ม และการสังเกตแบบมีส่วนร่วม การวิจัยระยะที่ 2 เป็นการพัฒนาการดูแลกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โดยการประชุมระดมสมองผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาแนวทางการดูแลกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่เหมาะสมกับบริบทของชุมชน และนำแนวทางการดูแลไปปฏิบัติโดยผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติ (learning by doing) และการวิจัยระยะที่ 3 เป็นการประเมินผลการนำแนวทางการดูแลลงไปปฏิบัติ การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณนำมาวิเคราะห์ทางสถิติ เป็นความถี่ ร้อยละ และค่าเฉลี่ย ข้อมูลเชิงคุณภาพนำมาวิเคราะห์เชิงเนื้อหา

ผลการวิจัยในระยะวิเคราะห์สถานการณ์พบว่า กลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเบาหวานและปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุของโรค และมีพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และการออกกำลังกายที่ไม่เหมาะสม ทางด้านการดูแลจากชุมชนพบว่าต่างคนต่างให้การดูแลตามการรับรู้และความเข้าใจของตนเอง และผลของการพัฒนามี ดังนี้  1) ได้แนวทางการดูแลจากชุมชนเพื่อสนับสนุนให้กลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มีการดูแลตนเอง ซึ่งประกอบด้วย แนวทางการดูแลจากสมาชิกในครอบครัวของกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จาก อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน จากผู้นำชุมชนและเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล 2) ได้แนวทางการดูแลตนเองของกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2  ประกอบด้วย การสร้างความตระหนักและแรงจูงใจในการดูแลตนเอง การใส่ใจหาความรู้ การลงมือปฏิบัติ

การเข้ารวมกลุ่มกับเพื่อนสมาชิก 3) ได้กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เกี่ยวกับการรับประทานอาหาร 4) ได้แนวทางการปฏิบัติของผู้ให้บริการสุขภาพในการดูแลกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และ 5) กลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และทางด้านภาวะสุขภาพของกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่ากลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มี BMI ตั้งแต่ 25 กก./ม2 ขึ้นไป จากเดิมมีจำนวน 6 คน ลดลงเหลือจำนวน 4 คน  และคนที่มีระดับ FPG 100-125 มก./ดล. จากเดิมมีจำนวน 2 คน ลดลงเหลือ จำนวน 1 คน

Downloads