ความกลัวที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์และการคลอดของสตรีตั้งครรภ์

ผู้แต่ง

  • ศิรินทิพย์ คำมีอ่อน
  • นิลุบล รุจิรประเสริฐ

คำสำคัญ:

ความกลัว, การตั้งครรภ์, การคลอด, ความกลัวที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์และการคลอด

บทคัดย่อ

ความกลัวที่เกิดขึ้นในระยะตั้งครรภ์ของสตรี เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมากมายทั้งด้านร่างกาย จิตใจและอารมณ์ ในขณะตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นภาวะที่ไม่สามารถคาดเดาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับมารดาและทารกในครรภ์ได้  จึงก่อให้เกิดความวิตกกังวล ความเครียด และความกลัวได้ การศึกษานี้เป็นการศึกษาเชิงปริมาณ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความกลัวที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์และการคลอด  ของสตรีตั้งครรภ์ที่มาฝากครรภ์ ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ในเขตอำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี  คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยการสุ่มตัวอย่างแบบโควตา (Quota Sampling)   จำนวน 320 ราย  รวบรวมข้อมูล โดยใช้แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบประเมินความกลัวที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์และการคลอด วิเคราะห์ข้อมูลส่วนบุคคลด้วยสถิติเชิงพรรณนา

ผลการศึกษาพบว่า สตรีตั้งครรภ์ส่วนมากเกิดความกลัวเกี่ยวกับการคลอด 2.77 (S.D. = 0.65)  และรองลงมาคือ ความกลัวเกี่ยวกับภาวะสุขภาพของตนเองและทารก ความกลัวการได้รับผ่าตัดคลอด และความกลัวที่เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ให้การดูแล 2.75 (S.D. = 0.81) , 2.49 (S.D. = 1.01) และ 2.36 (S.D.= 0.80) ตามลำดับ  ส่วนสาเหตุที่ก่อให้เกิดความกลัวส่วนมาก คือ การได้รับข้อมูลข่าวสารที่เป็นอันตรายจากเจ้าหน้าหน้าที่ 2.22 (S.D. = 0.81)  และรองลงมาสตรีตั้งครรภ์มีอารมณ์ด้านลบ  2.06 (S.D.=0.68) ตลอดจนการได้รับเรื่องราวด้านลบ 1.98 (S.D.= 0.74)   สำหรับการแสดงออกของความกลัว พบว่าความกลัวมีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวัน 1.27 (S.D. = 0.43) และมีอาการเครียด 1.27 (S.D. = 0.43)

ดังนั้นพยาบาลในคลินิกฝากครรภ์ควรตระหนักและประเมินความรู้สึกต่อการตั้งครรภ์และการคลอดโดยเฉพาะสตรีตั้งครรภ์ที่มีอายุน้อย  และสตรีตั้งครรภ์แรกที่มารับบริการฝากครรภ์ เมื่อพบว่ามีความกลัวเกิดขึ้นควรให้การดูแลที่เหมาะสม  พร้อมทั้งจัดกิจกรรมทางการพยาบาลเพื่อลดความกลัว

Downloads