การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่โดยเทคนิค O-LCA

Authors

  • จารุวรรณ มั่นอ่ำ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • ณัฐนี วรยศ สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • ณัฐ วรยศ สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Abstract

งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่เกิดจากกิจกรรมของคณะ สถาบัน และ หน่วยงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยทั้ง 44 หน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงาน การใช้น้ำ การใช้สารเคมี/สารทำความเย็น การใช้ปุ๋ยในการจัดการพื้นที่สีเขียว และ การจัดการขยะของเสีย โดยอาศัยเทคนิคการประเมินวัฏจักรชีวิตในระดับองค์กร หรือที่เรียกว่า O-LCA ร่วมกับระเบียบวิธีการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เรียกว่า ReCiPe  โดยได้ทำการประเมินผลกระทบแบ่งออกเป็นทั้งหมด 11 ด้านด้วยกันได้แก่ ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้านการเกิดภาวะฝนกรดและความเป็นกรดในดิน ด้านการลดลงของชั้นโอโซน ด้านการเจริญเติบโตผิดปกติของพืชน้ำในแหล่งน้ำจืด ด้านการเกิดภาวะก่อตัวของฝุ่นละอองหมอกควัน ด้านการเกิดภาวะก่อตัวของสารโฟโตเคมิคอลออกซิแดนท์ ด้านการเกิดภาวะที่เป็นพิษต่อสุขภาพมนุษย์ ด้านการเกิดภาวะที่เป็นพิษต่อแหล่งน้ำจืด ด้านการเกิดภาวะที่เป็นพิษต่อดิน ด้านการลดลงของทรัพยากรเชื้อเพลิงที่ใช้แล้วหมดไป และ ด้านความขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ซึ่งนอกจากจะทำการประเมินแยกเป็นรายผลกระทบแล้วในงานวิจัยนี้ยังได้ทำการประเมินผลกระทบโดยภาพรวมที่ทุกผลกระทบจะถูกนำมาให้น้ำหนักและแสดงผลออกมาในหน่วย “Point: Pt” จากผลการเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติย้อนหลัง 4 ปีระหว่าง พ.ศ. 2556 – 2559 พบว่าผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมโดยภาพรวมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีค่าโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 5,185.94 kPt/ปี หรือเทียบเป็น 3.55 kPt/คน/ปี โดยผลกระทบที่มากที่สุดเกิดจากการใช้พลังงานโดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้าซึ่งผลกระทบในส่วนดังกล่าวมีค่าสูงถึงร้อยละ 75 ของผลกระทบทั้งหมด และเมื่อนำข้อมูลในแต่ละปีมาทำประเมินแนวโน้มของผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในอีก 5 ปีข้างหน้าพบว่าในปี 2565 ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 6,883.83 kPt/ปี หรือเทียบเป็น 3.78 Pt/คน/ปี แต่ทั้งนี้หากมหาวิทยาลัยสามารถดำเนินตามมาตรการอนุรักษ์พลังงาน ติดตั้งแหล่งพลังงานทดแทน และ ปรับเปลี่ยนการจัดการขยะและของเสียให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 60 ของแผนทั้งหมดของมหาวิทยาลัยก็จะสามารถลดผลกระทบในปี 2565 ให้เหลือเพียง 5,466.68 kPt/ปี หรือสามารถลดลงได้ถึงร้อยละ 20.59 

Downloads

Published

2017-08-07