การเจ็บป่วยที่สัมพันธ์กับความร้อนของเกษตรกร ตำบลตะขบ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา

ผู้แต่ง

  • ธัญญารัตน์ ทราบจังหรีด
  • อุไรวรรณ อินทร์ม่วง

คำสำคัญ:

การเจ็บป่วยที่สัมพันธ์กับความร้อน, เกษตรกร, นครราชสีมา

บทคัดย่อ

การศึกษาเชิงวิเคราะห์แบบตัดขวาง (Cross-sectional Analytical Study) นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ
ศึกษาการเจ็บป่วยที่สัมพันธ์กับความร้อนของเกษตรกร ตำบลตะขบ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา
ดำเนินการศึกษาโดย 1) การศึกษาค่าดัชนีความร้อนจากข้อมูลอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ของสถานี
อุตุนิยมวิทยานครราชสีมา อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างเดือน มีนาคม-เมษายน พ.ศ. 2559 ซึ่ง
แบ่งค่าดัชนีความร้อนออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ ระดับเตือนระวัง(ต่ำกว่า 32oC) ระดับระวังรุนแรง (33-39oC)
ระดับอันตราย (40-51oC) และระดับอันตรายรุนแรง (มากกว่า 52oC) 2) รวบรวมข้อมูลการมารับบริการการ
เจ็บป่วยที่สัมพันธ์กับความร้อนจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลตะขบ อำเภอปักธงชัย จังหวัด
นครราชสีมา และ 3) เก็บข้อมูลผู้ป่วยโดยใช้แบบสอบถาม ซึ่งประกอบด้วย การรับรู้ความเสี่ยงต่อการเกิดการ
เจ็บป่วยที่สัมพันธ์กับความร้อน การปฏิบัติตนในการป้องกันตนเอง และการเจ็บป่วยที่สัมพันธ์กับความร้อน
จากกลุ่มตัวอย่างเกษตรกร จำนวน 275 ครัวเรือน ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2559 โดยสอบถามข้อมูลย้อนหลัง
ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน 2559
ผลการศึกษา พบว่า ค่าดัชนีความร้อนในเดือนมีนาคมและเดือนเมษายน มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ
35.48±4.52 และ 40.23±2.46oC ตามลำดับ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในระดับอันตราย ร้อยละ 47.54 รองลงมาอยู่ใน
ระดับระวังรุนแรง และระดับเตือนระวัง ร้อยละ 37.70 และ14.75 ตามลำดับ ผลการศึกษาข้อมูลด้านการ
เจ็บป่วยที่สัมพันธ์กับความร้อน ส่วนใหญ่มีอาการวิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ หน้ามืด ร้อยละ 56.73 รองลงมามี
อาการหน้าซีด ตัวเย็น คล้ายจะเป็นลม หรือที่เรียกว่า ลมแดด ร้อยละ 23.64 ส่วนในด้านการปฏิบัติตนในการ
ป้องกันตนเองของเกษตรกรจากแบบสอบถามและข้อมูลที่ได้รับจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลตะขบ
พบว่า เมื่อมีการเจ็บป่วยดังกล่าวข้างต้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จะหยุดพักจากงานที่กำลังทำอยู่ในขณะนั้น
และปฐมพยาบาลตนเองเบื้องต้น มีเพียงบางส่วนที่ไปรับบริการสถานพยาบาลใกล้บ้าน ผลการทดสอบทางสถิติ
พบว่า ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดอาการและอาการแสดงจากการสัมผัสความร้อน ที่ระดับนัยสำคัญทาง
สถิติ 0.05 ได้แก่ ระยะเวลาในการประกอบอาชีพ (p-value=0.037) จำนวนวันในการทำนา ทำไร่ หรือทำสวน
(p-value=0.036) และระยะเวลาการสัมผัสแสงแดดต่อวัน (p-value=0.039) และจากการศึกษาการรับรู้
ชี้ให้เห็นว่าเกษตรกรยังมีการรับรู้ถึงความเสี่ยงต่อการเกิดการเจ็บป่วยจากความร้อน อยู่ในระดับน้อย ร้อยละ
67.64 รองลงมาอยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 27.64 ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรหามาตรการพัฒนาการ
รับรู้และแนวทางป้องกันปัญหาการเจ็บป่วยที่สัมพันธ์กับความร้อนของเกษตรกรต่อไป

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2017-07-07