บทบรรณาธิการ เทคโนโลยีสมัยใหม่กับการก้าวสู่ Aging Society

Main Article Content

ทิพย์พาพร มหาสินไพศาล

บทคัดย่อ

           คาดการณ์ว่าโลกในอีก 10-20 ปีข้างหน้าจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องด้วยอัตราผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายๆ ประเทศ พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี จากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ (United Nations) คาดการณ์ว่า ปี ค.ศ. 2050 จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน โดยมีจำนวนกว่า 2,000 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 21 ของประชากรโลก สำหรับในประเทศไทยนั้น มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย คาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ในปี ค.ศ. 2021


          การเกิดสังคมผู้สูงอายุก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมาย และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะมีส่วนช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและปลอดภัย ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้สูงอายุควรจะเข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ง่าย เพราะเทคโนโลยีจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้สูงอายุตั้งแต่เริ่มตื่นนอนจนถึงการเข้านอน ในบางประเทศได้นำเอาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือที่เรียกกันว่า AI (ArtificialIntelligence) เช่น หุ่นยนต์ โดยแพทย์และพยาบาลนำมาใช้ในการดูแลผู้สูงอายุในโรงพยาบาล และอนาคตเราคงเห็นหุ่นยนต์สำหรับดูแลผู้สูงอายุ ใช้แพร่หลายในประเทศไทย นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมการผลิตเริ่มให้ความสนใจกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้น โดยพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านต่างๆ สำหรับผู้สูงอายุ อาทิ ระบบไฟส่องสว่างนำทางอัตโนมัติ อุปกรณ์เซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว จีพีเอส ช่วยป้องกันการหลงทางของผู้สูงอายุ เครื่องเตือนรับประทานยาอัตโนมัติ จะช่วยเตือนให้ผู้สูงอายุทานยาตรงเวลา และไม่ใช้ยาผิด อุปกรณ์สายรัดข้อมืออัจฉริยะ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีสำหรับกรณีฉุกเฉิน ช่วยส่งสัญญาณไปยังผู้ดูแลเพื่อให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที เป็นต้น


          นอกจากนี้ โลกออนไลน์ก็มีส่วนช่วยให้ผู้สูงอายุใกล้ชิดลูกหลานได้ง่ายขึ้นด้วยการติดต่อสื่อสารผ่านการวิดีโอ เฟซบุ๊ก หรือไลน์ และเทคโนโลยีเหล่านี้ยังสร้างความสุข ความเพลิดเพลินให้กับผู้สูงอายุ ทำให้ผู้สูงอายุได้มีกิจกรรมยามว่าง และพัฒนาทักษะและสมองจากแอปพลิเคชั่นต่างๆ จากสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ ได้อีกด้วยแต่อย่างไรก็ตามผู้สูงอายุก็ต้องสร้างเสริมสุขภาวะของตนเองให้มีสุขภาพร่างกาย จิตใจที่เข้มแข็งสมบูรณ์ มีอิสระพึ่งพาตนเองได้ตลอดเวลา สามารถปรับสมดุลของชีวิตตนเองให้สามารถดำเนินชีวิตเข้ากับสภาพแวดล้อมได้อย่างมีศักยภาพ ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2545 วารสารปัญญาภิวัฒน์ ปีที่ 10 ฉบับที่ 3 (กันยายน-ธันวาคม 2561) ขอเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมคุณค่าผู้สูงอายุ โดยการเสนอบทความเกี่ยวกับผู้สูงอายุ เรื่อง “การจัดคอนโดมิเนียมผู้สูงอายุเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะตามแนวพุทธบูรณาการ และภายในเล่มยังมีบทความ ที่น่าสนใจอีกหลากหลายทั้งด้านการศึกษา การตลาด การท่องเที่ยว การค้าปลีกสมัยใหม่ และสาขาอื่นที่น่าสนใจ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าวารสารปัญญาภิวัฒน์ฉบับนี้จะช่วยให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลอันเป็นประโยชน์ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้


          เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ปีพุทธศักราช 2562 ที่กำลังจะมาถึง กองบรรณาธิการวารสารปัญญาภิวัฒน์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ขอส่งความสุขและความปรารถนาดีมายังทุกท่าน ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลพิภพดลบันดาลให้ทุกท่านประสบแต่ความสุข ความเจริญมีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง และสัมฤทธิผลในสิ่งอันพึงปรารถนาทุกประการ

Article Details

บท
บทบรรณาธิการ