กรณีศึกษาการปรับตัวทางสังคมของผู้ต้องขังชายที่มีพฤติกรรมเลียนแบบเพศตรงข้ามด้วยการให้คำปรึกษารายบุคคลตามทฤษฎีเกสตัลท์

Authors

  • สุภาภรณ์ ผลบุญ
  • กาญจนวัลย์ ภิญโญศุภสิทธิ์
  • ณรงค์ ยงณรงค์เดชกุล

Abstract

 งานวิจัยฉบับนี้ศึกษาการปรับตัวทางสังคมขณะอยู่ในเรือนจำและผลการให้คำปรึกษารายบุคคลตามทฤษฎีเกสตัลท์ต่อการปรับตัวทางสังคมของผู้ต้องขังชายที่มีพฤติกรรมเลียนแบบเพศตรงข้ามในเรือนจำจังหวัดสงขลา กลุ่มตัวอย่างเป็นบุคคลที่ผู้วิจัยคัดเลือกแบบเจาะจง (Purposive sampling) โดยเป็นผู้ต้องขังชายที่มีพฤติกรรมเลียนแบบเพศตรงข้ามไม่จำกัดประเภทโทษคดีที่ทางเรือนจำจังหวัดสงขลาแยกประเภทว่าเป็นผู้ต้องขังที่มีพฤติกรรมเลียนแบบเพศตรงข้ามมีคะแนนการปรับตัวทางสังคมต่ำที่สุดตามลำดับ จำนวน 3 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างและแบบสอบถามการปรับตัวทางสังคม มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.91 หลังจากนั้นจึงให้คำปรึกษารายบุคคลโดยใช้โปรแกรมการให้คำปรึกษารายบุคคลตามทฤษฎีเกสตัลท์
 ผลการศึกษา พบว่า การปรับตัวทางสังคมของผู้ต้องขังชายที่มีพฤติกรรมเลียนแบบเพศตรงข้ามด้านการรับรู้ตนเอง พบว่า เป็นคนใจร้อน เอาแต่ใจ หงุดหงิดง่าย ต้องการมีคนเอาใจ ปากร้าย สนุกสนาน ด้านความสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่เรือนจำ พบว่า ไม่กล้าพูดคุย ปรึกษาหรือขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่เพราะไม่ทราบวิธีการพูดคุยที่เหมาะสม ด้านความสัมพันธ์กับเพื่อนผู้ต้องขัง พบว่า มักทะเลาะวิวาทกับผู้ต้องขังประเภทเดียวกันเนื่องจากมีนิสัย ชิงดีชิงเด่น อิจฉาริษยา พูดจาทับถมเหมือนกัน  จึงอยู่ร่วมกันไม่ได้  และจำเป็นต้องมีผู้ต้องขังชายไว้คอยดูแลเพื่อความปลอดภัย ด้านกิจกรรม กฎระเบียบข้อบังคับ พบว่าไม่มีกิจกรรมและกองงานที่ผู้ต้องขังประเภทนี้สามารถร่วมได้  มักทำผิดกฎระเบียบข้อบังคับ คือ มีเพศสัมพันธ์ นำอาหารขึ้นไปทานบนเรือนนอน ก่อเหตุทะเลาะวิวาท  ด้านสภาพแวดล้อม ในเรือนจำพบว่า  สามารถปรับตัวได้กับสถานที่  ที่ให้ความร่มรื่น เช่น ใต้เรือนนอน หลังห้องควบคุม ห้องสมุด แต่สำหรับห้องน้ำ  อาหาร  และกองงาน  ผู้ต้องขังประเภทนี้ยังไม่สามารถปรับตัวได้
 สำหรับผลการให้คำปรึกษารายบุคคลตามทฤษฎีเกสตัลท์ พบว่า หลังจากให้คำปรึกษารายบุคคลตามทฤษฎีเกสตัลท์ ผู้ต้องขังชายที่มีพฤติกรรมเลียนแบบเพศตรงข้ามมีระดับการปรับตัวทางสังคมโดยภาพรวมค่อนข้างมาก ข้อเสนอแนะจากงานวิจัย ทางเรือนจำควรจัดให้มีกองงานที่เหมาะสมแก่ผู้ต้องขังประเภทดังกล่าว เช่น การจัดช่อดอกไม้ ดอกไม้ประดิษฐ์ นวดแผนโบราณ งานจักสาน เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพให้กับผู้ต้องขังชายที่มีพฤติกรรมเลียนแบบเพศตรงข้าม
คำสำคัญ: พฤติกรรมเลียนแบบเพศตรงข้าม การปรับตัวทางสังคม การให้คำปรึกษาตามทฤษฎีเกสตัลท์

Downloads

Published

2011-09-15

How to Cite

ผลบุญ ส., ภิญโญศุภสิทธิ์ ก., & ยงณรงค์เดชกุล ณ. (2011). กรณีศึกษาการปรับตัวทางสังคมของผู้ต้องขังชายที่มีพฤติกรรมเลียนแบบเพศตรงข้ามด้วยการให้คำปรึกษารายบุคคลตามทฤษฎีเกสตัลท์. Princess of Naradhiwas University Journal, 2(3). Retrieved from https://li01.tci-thaijo.org/index.php/pnujr/article/view/53683

Issue

Section

บทความวิจัย